Business

หวั่น ‘คืนเงินชราภาพ’ ป่วนตลาดเงิน 4 แสนล้าน ‘ประกันสังคม’ คิดหนักหาทางออก

“แรงงาน” หวั่น “คืนเงินชราภาพ” ป่วนตลาดเงินประเทศ 4 แสนล้าน “ประกันสังคม” คิดหนักหาทางเลือกช่วยผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของผู้ประกันตนที่ต้องการนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนกำหนด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในยามฉุกเฉินว่า

คืนเงินชราภาพ ประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คาดหวังจะนำเงินจากกองทุนชราภาพออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันกองทุนชราภาพมีวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาทและลงทุนตามสัดส่วนที่คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม อนุญาต กำไรที่ได้นำไปสมทบกองทุนฯ และอีกส่วนนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาล

แต่กฎหมายประกันสังคมในปัจจุบันมีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ประกันตนในยามเกษียณ ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดวิกฤติแบบโควิด-19 จึงทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถนำเงินชราภาพที่สะสมไว้ ออกมาใช้ก่อนอายุ 55 ปี ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็สั่งให้พิจารณาว่ากฎหมายใดล้าสมัยให้แก้ไขปรับปรุง

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแก้ไขเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพื่อพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบกองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่ให้ใช้เงินได้ในช่วงอายุ 55 ปี หรือบั้นปลายชีวิต มาเป็นการช่วยดูแลครอบครัวในภาวะวิกฤติด้วย

  • แนวทางที่ 1 คืนเงิน 30%

คณะกรรมการฯ ได้ประชุมกัน 3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่า ประกันสังคม อาจจะ คืนเงินชราภาพ ก่อนกำหนด 30% ของวงเงินที่สะสมไว้ทั้งหมด แนวทางนี้นิยามของกองทุนก็ไม่เสียและผู้ประกันตนก็ยังได้รับบำนาญอยู่ แต่เงินบำนาญอาจจะลดลง เช่น จาก 4,000 บาทต่อเดือน เหลือ 3,000 บาทต่อเดือน แต่ผู้ประกันตนก็จะไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

  • แนวทางที่ 2 นำเงินผู้ประกันตน 30% ค้ำประกันธนาคาร

แต่ในอีกมุมหนึ่ง แนวทางแรกจะทำให้เงินกองทุนฯ หายไปประมาณ 3-4 แสนล้านบาท กระทบต่อตลาดการเงินของประเทศ จึงคิดแนวทางที่ 2 ว่า วันนี้เงินล้นธนาคาร เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ จึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้กองทุน ประกันสังคม ช่วยค้ำประกันสินเชื่อธนาคาร

คือ สำนักงานกองทุนประกันสังคมออกใบสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนไปกู้เงินจากธนาคารในอัตรา 30% ของวงเงินชราภาพและคิดดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี ถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้ก็มาเก็บกับกองทุนประกันสังคมภายหลัง ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ

  • แนวทางที่ 3 พ้นจากมาตรา 33 มีสิทธิ์รับเงินคืนเลย

อีกแนวทางหนึ่ง คือ ให้ผู้ประกันตนที่ออกจากระบบประกันสังคมมาตรา 33 เลือกได้เลยว่า ต้องการเงินชราภาพคืนทันที หรือจะรอรับเงินบำเหน็จเมื่อตอนเกษียณอายุ

  • แนวทางที่ 4 ประกันสังคม ปล่อยกู้เอง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขประเด็นต่างๆ ข้างต้นต้องดำเนินการในระดับ พ.ร.บ. มีขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ใช้ระยะเวลาเป็นปี ซึ่งอาจจะนานเกินไป

กระทรวงแรงงานจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า สำนักงานประกันสังคมสามารถลงทุนและสร้างดอกผล ด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกันตนได้หรือไม่ โดยปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปีที่ 2 ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ปีที่ 3 ชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถ้าหากใครผิดนัดชำระหนี้ก็มาหักคืนจากกองทุนประกันสังคมเมื่อกฎหมายแก้ไขเสร็จแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบตลาดเงินและทำให้สามารถช่วยเหลือได้เร็วขึ้น

shutterstock 1676695528 e1607687707207

“ประกันสังคม มาตรา 33” คือ ใคร ?

ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมมีทั้งหมด 3 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เรียกง่าย ๆ ว่าส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มพนักงานเอกชน หรือ มนุษย์เงินเดือน”

ตามปกติผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 5% ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจากกองทุน ประกันสังคม ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

ข้อมูล ณ เดือนมกราคม พบว่า ประกันสังคมมาตรา 33 มีทั้งหมด 11,055,513 คนทั่วประเทศ จากผู้ประกันตนทุกประเภทที่มีทั้งหมด 16,413,666 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo