Business

อาหารทะเลทานได้ สธ.เปิดผลตรวจ 117 ตัวอย่าง ปลอดโควิด แนะปรุงสุกทำลายเชื้อ

เปิดผลตรวจ 117 ตัวอย่าง อาหารทะเล และบรรจุภัณฑ์ สธ.เผยไม่พบปนเปื้อนโควิด-19 ย้ำทานอาหารทะเลปลอดภัย ปรุงสุก ความร้อนทำลายเชื้อได้

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้ประชาชนเกิดกระแสความไม่มั่นใจ ในการบริโภคอาหารทะเล ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดห่วงโซ่การผลิตสัตว์น้ำต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพชาวประมงเป็นอย่างมาก

อาหารทะเล3

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงตรวจวิเคราะห์ด้านอาหารของประเทศไทย จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรม เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อนในอาหารและบรรจุภัณฑ์

นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการสุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพ ความปลอดภัยอาหารทะเล มาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านอาหารนำเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด่านตรวจประมง กรมประมง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ตลาดปลาสหกรณ์ และบริษัทเอกชน เป็นต้น เพื่อให้การตรวจเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการเก็บตัวอย่าง อาหารและบรรจุภัณฑ์ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทรายแดง ปลาซาบะ ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ หอย หมึก กุ้ง เป็นต้น

อาหารทะเล1

สำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋อง กล่องกระดาษ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – เดือนมกราคม 2564 จำนวน 117 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง โดยเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2563 สุ่มตรวจอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดสดเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 80 ตัวอย่าง

ในวันที่ 7 มกราคม 2564 ตรวจอาหารทะเลที่ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จ.สมุทรสาคร จำนวน 26 ตัวอย่าง วันที่ 11 มกราคม 2564 ตรวจสินค้าสัตว์น้ำในเรือด่านประมง จ.ระยอง จำนวน 3 ตัวอย่าง และล่าสุดวันที่ 21 มกราคม 2564 ตรวจอาหารทะเลและบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กล่องกระดาษ กระป๋อง จำนวน 8 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจอาหารทะเล ที่จำหน่ายในประเทศ ไม่พบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า สามารถรับประทานทะเลสด และอาหารทะเลแช่แข็งได้ตามปกติ และมีความปลอดภัย โดยนำมาปรุงให้สุก เพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และถ้าความร้อนสูงขึ้น ก็จะใช้ระยะเวลาน้อยลง

หากเป็นอาหารแช่แข็ง ควรล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ สวมถุงมือเวลาประกอบอาหาร และที่สำคัญต้องล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหารทะเล

ทั้งนี้บริษัทเอกชน ที่ต้องการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 0-2951-0000 ต่อ 99561, 99562 หรือคู่มือการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาหารและบรรจุภัณฑ์ http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/index.php/covid-19/

“ที่สำคัญคือ ในช่วงนี้กรมฯได้ลดค่าตรวจวิเคราะห์ 50% เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo