Business

ล้มแล้ว! บอร์ดคัดเลือกฯ รอศาลไม่ไหว ยกเลิกประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’

ล้มแล้ว! บอร์ดคัดเลือกฯ ยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.4 แสนล้าน อ้างขบวนการศาลล่าช้ากระทบโครงการ ขอนับหนึ่งใหม่

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้ยกเลิกการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มประมูล

เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า เกิดความล่าช้าในกระบวนการของศาล ในกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยขณะนี้กระบวนการศาล ได้กินเวลามาแล้ว 1-2 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการโครงการให้ล่าช้าออกไปและอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกรอบเวลาการยืนราคาประมูลด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางการ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีจะมีมีมติให้ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ และเร่งรัดให้ รฟม. เร่งดำเนินการเปิดประมูลใหม่โดยเร็วต่อไป ซึ่งเชื่อว่า รฟม. จะสามารถบริหารจัดการระยะเวลาการดำเนินโครงการได้ดีกว่าหากเปิดประมูลครั้งใหม่

ส่วนจะเปิดประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกเมื่อไหร่ และใช้เงื่อนไขการประมูล (TOR) รูปแบบใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้เพราะขึ้นอยู่กับ รฟม. โดย รฟม. จะต้องไปกำหนดรายละเอียดและนำมาเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ อีกครั้ง

ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

“รฟม.” แถลงการณ์ชี้แจง

ในวันเดียวกัน รฟม. ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ออกแถลงการณ์ การพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ (3 ก.พ.) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รวมถึงสถานะของการดำเนินงานในปัจจุบันและเห็นว่า

ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ ซึ่งหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในภาพรวม

ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ จึงมีมติโดยสรุปว่า ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

  • ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี)
  • ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

fig 06 11 2020 10 24 01

ก่อน ยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

รฟม. เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อกลางปี 2563 ประกอบด้วยงานเดินรถตลอดสาย ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่ารวม 1.4 แสนล้านบาท

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับแก้เกณฑ์การให้คะแนนการประมูลกลางอากาศ จากเดิมจะตัดสินผู้ชนะด้วยข้อเสนอด้านราคา 100% ก็เปลี่ยนเป็นให้คะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก ข้อเสนอด้านเทคนิค 30% และข้อเสนอด้านผลตอบแทน 70%

ในการประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่มคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งนำโดยบีทีเอส (BTS) โดย BTS มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้ รฟม. กลับมาใช้เกณฑ์ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบเดิม ซึ่งศาลฯ ก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ BTS ร้องขอ

ด้าน รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและเลื่อนกระบวนการเปิดซองข้อเสนอออกไปก่อน เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติยกเลิกการประมูลในปี 2563 เพื่อเริ่มเปิดประมูลใหม่ ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการศาลใช้เวลาค่อนข้างนาน เกรงว่าจะกระทบต่อการดำเนินโครงการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo