Business

ถกเยียวยา ‘ประกันสังคมมาตรา 33’ แนวโน้มจ่ายเงินผ่านแอปฯ เหมือน ‘เราชนะ’

“คลัง-แรงงาน” ถกเยียวยา “ประกันสังคมมาตรา 33” ยังไม่สรุปวงเงิน แต่แนวโน้มจ่ายผ่านแอปฯ วิธีเดียวกับ “เราชนะ”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานได้หารือเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบกองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ขอหารือกับกระทรวงแรงงานเพิ่มเติมอีกครั้งว่า จะจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ รายละเอียด และหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด โดยจะนำฐานข้อมูลจากกองทุนประกันสังคมมาพิจารณา

ด้านรูปแบบการจ่ายเงินนั้น เบื้องต้นอาจมีรูปแบบคล้ายกับ “โครงการเราชนะ” ที่จ่ายเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน ส่วนจะมีการแจกเป็นสดหรือไม่นั้น ยังไม่มีความชัดเจน

ประกันสังคมมาตรา 33 เราชนะ 5ds4f65ds

เปิดเงื่อนไข “เราชนะ”

สำหรับโครงการ เราชนะ ซึ่งกระทรวงการคลังนำมาเทียบเคียงกับการเยียวยาโควิด-19 ประกันสังคมมาตรา 33 คืออะไร?

โครงการเราชนะ คือโครงการที่ให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เราชนะจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท

คุณสมบัติของผู้รับสิทธิเราชนะ มีดังนี้

  • เป็นคนไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • ไม่เป็นผู้ประกันตามมาตรา 33 (ยกเว้นเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน อยู่ก่อนแล้ว)
  • ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการการเมือง และผู้รับบำนาจหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
  • ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท (ปีภาษี 2562)
  • ไม่เป็นผู้มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท (ณ 31 ธ.ค. 63)

ทั้งนี้ โครงการเราชนะจะทยอยจ่ายเงินเยียวยาสัปดาห์ละเท่าๆ กันผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ซึ่งประชาชนสามารถนำไปรูดซื้อสินค้า บริการ และค่าเช่าที่กำหนดได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อเรียกร้องว่า หากเราชนะจ่ายเป็นเงินสดจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า

 

ที่ผ่านมา “มาตรา 33” ได้อะไรจาก “ประกันสังคม” บ้างช่วงโควิด-19? 

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือพนักงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งมีทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 มักจะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตราการเยียวยาโควิด-19 ต่างๆ ของรัฐบาล จนทำให้เกิดการเรียกร้องและนำมาสู่การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยามาตรา 33 ในครั้งนี้

แต่ที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์และเงินทดแทนในกรณีต่าง ๆ ให้ ดังนี้

  • ลดเงินสมทบเหลือ 0.5-3

กองทุนประกันสังคมได้ลดเงินสมทบให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากปกติต้องจ่าย 5% ของค่าจ้างหรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาทต่อเดือน ในเดือนมกราคม 2564 จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 จะได้รับลดหย่อยเหลือ 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาทต่อเดือน

  • จ่ายเงินทดแทน 50% ในกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

ปี 2564 ประกันสังคม จะจ่ายเงินทดแทน กรณีว่างงาน (ชั่วคราว) จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนดังกล่าวไม่เกิน 90 วันภายใน 1 ปี สำหรับเงื่อนไขเป็นดังนี้

1.เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคำสั่งของราชการ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

  • จ่ายเงินทดแทน 70% กรณีถูกเลิกจ้าง

กรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้าง ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมกองทุนฯ จ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วันต่อปี

  • จ่ายเงินทดแทน 45% กรณีลาออก

กรณีว่างงาน เพราะลาออก ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้รับเงินชดเชย 30% ไม่เกินปีละ 90 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo