Business

แรงงานต่างด้าว แห่ลงทะเบียนออนไลน์ กว่า 2 แสน 5 หมื่นคน หมดเขต 13 ก.พ.นี้

แรงงานต่างด้าว แห่ลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านครึ่งทาง กว่า 2 แสน 5 หมื่นคน ย้ำต้องเข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 ผู้ที่ยังไม่ดำเนินการ รีบยื่นบัญชีฯ ก่อนหมดเขต 13 กุมภาพันธ์ 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าว แห่ลงทะเบียนออนไลน์ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 วันละกว่า 15,000 คน โดยข้อมูลจากระบบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางอิเล็กทรอนิกส์ https://e-workpermit.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 มีคนต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 251,755 คน

แรงงานต่างด้าว แห่ลงทะเบียนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่แจ้งบัญชีรายชื่อให้รีบดำเนินการยื่นบัญชีฯ ผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 13 ก.พ. 64 หากพ้นกำหนด จะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับ การบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าวมาโดยตลอด ด้วยแรงงานต่างด้าว เป็นส่วนสำคัญหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิต เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจของประเทศ

โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่ประเทศไทย ต้องพบกับการระบาดระลอกใหม่ ของเชื้อโควิด – 19 จำเป็นต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม เพื่อมีส่วนร่วม มีบทบาท ในการช่วยกันเร่งเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ฟื้นตัวโดยเร็ว

สำหรับ กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับ การแก้ปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว โดยบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ได้อยู่และทำงานในประเทศ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสามารถตรวจสอบ ควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้อย่างเป็นระบบ

สุชาติ
สุชาติ ชมกลิ่น

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากคนต่างด้าว ที่ยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 251,755 คน แบ่งเป็นกรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 62,415 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 236,223 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 142,932 คน กัมพูชา 67,945 คน และลาว 25,346 คน

ส่วนกรณีคนต่างด้าว ที่ยังไม่มีนายจ้าง โดยคนต่างด้าว แจ้งข้อมูลด้วยตนเอง จำนวน 17,882 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 9,671 คน กัมพูชา 6,904 คน และลาว 1,307 คน

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เห็นชอบการทบทวน แนวทางการดำเนินการ บริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดให้คนต่างด้าว ทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง ที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว เข้าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ส่วนการตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม 6 โรค และประกันสุขภาพ หากมีเหตุ ให้ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๑๐๐๖ 0

 

พร้อมกันนั้น ให้ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว และความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้ กรมการจัดหางาน ออกใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

หลังจากคนต่างด้าว ได้รับการรับรองผลว่า ไม่เป็นโรคโควิด – 19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

จากนั้น ให้คนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัว คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564

กรณีคนต่างด้าว ที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

เมื่อมีนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงาน แทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าว ไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัว คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยุ่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo