Business

11 ล้านคนเฮลั่น! แรงงานเคาะจ่าย 4 พันบาท ‘ประกันสังคมมาตรา 33’ ได้แน่นอน

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่าย 4 พันบาท  “สุชาติ” ประกาศเตรียมช่วยผู้ประกันตน มาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านคน จ่ายเยียวยา 4 พันบาทเป็นเวลา 1 เดือน เร่งหารือคลังสรุปตัวเลข-งบ ก่อนเสนอครม.สัปดาห์หน้า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงแรงงาน ได้หารือกับทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับเงินเยียวยา 3,500 หรือ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน

นายสุชาติ  ยืนยันแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยาผลกระทบโควิด-19 แน่นอน เพราะนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายสั่งการให้ไปหามาตรการร่วมกับกระทรวงการคลัง เบื้องต้นแนวทางให้สิทธิจะคล้ายกับ “เราชนะ” ตอนนี้ได้หารือกระทรวงการคลังและสศช.แล้ว ถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนในมาตรา 33  กว่า 11 ล้านคน เพราะต้องนำงบของกระทรวงการคลังมาจ่าย สัปดาห์หน้ามีความชัดเจน เอาเป็นว่ามาตรา 33 มีได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม สศช.จะนำรายละเอียดข้อมูลกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง  เพื่อสรุปตัวเลขและงบประมาณ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านคน ที่จะได้รับการเยียวยา

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่าย 4 พันบาท

ก่อนหน้านี้ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจในระดับนโยบายที่ต้องหารือร่วมกัน

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่าย 4 พันบาท

โดยกระทรวงแรงงานจะต้องหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาความจำเป็นในการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบประมาณฟื้นฟู 3.9 แสนล้านบาท และน่าจะมีการหารือร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสัปดาห์หน้า

แต่ในหลักการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะมีกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 1.1 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าวรวมอยู่ด้วย จึงต้องติดตามว่า กระทรวงแรงงานจะกำหนดหลักเกณฑ์ เยียวยาโควิด-19 ประกันสังคมมาตรา 33 อย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้

“ต้องไปดูว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะเข้ามาตรการอย่างไร ใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะแบ่งออกจากแพ็กเกจเราชนะ เหมือนกับแนวทางช่วยเหลือข้าราชการ อย่างไรก็ดี ในที่สุด ผู้ตัดสินใจอนุมัติเม็ดเงินโครงการก็เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้อยู่ดี แต่กระทรวงการคลังก็พร้อมจ่ายเงินให้หากมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนออกมาแล้ว” นางสาวกุลยา กล่าว

“มาตรา 33” ได้อะไรจาก “ประกันสังคม” บ้างช่วงโควิด-19 ระบาด? 

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือพนักงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งมีทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 มักจะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตราการเยียวยาโควิด-19 ต่างๆ ของรัฐบาล แต่กองทุนประกันสังคมจะเพิ่มสิทธิประโยชน์และเงินทดแทนต่าง ๆ ในกรณีต่าง ๆ ให้ ดังนี้

  • ลดเงินสมทบเหลือ 0.5-3

กองทุนประกันสังคมได้ลดเงินสมทบให้นายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากปกติต้องจ่าย 5% ของค่าจ้างหรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาทต่อเดือน ในเดือนมกราคม 2564 จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 จะได้รับลดหย่อยเหลือ 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาทต่อเดือน

ประกันสังคมมาตรา 33 จ่าย 4 พันบาท

  • จ่ายเงินทดแทน 50% ในกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

ปี 2564 ประกันสังคม จะจ่ายเงินทดแทน กรณีว่างงาน (ชั่วคราว) จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนดังกล่าวไม่เกิน 90 วันภายใน 1 ปี สำหรับเงื่อนไขเป็นดังนี้

1.เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคำสั่งของราชการ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

  • จ่ายเงินทดแทน 70% กรณีถูกเลิกจ้าง

กรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้าง ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมกองทุนฯ จ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วันต่อปี

  • จ่ายเงินทดแทน 45% กรณีลาออก

กรณีว่างงาน เพราะลาออก ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้รับเงินชดเชย 30% ไม่เกินปีละ 90 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight