Business

สนค. ปรับปีฐาน ‘เงินเฟ้อ’ ใหม่ ดึง ‘หน้ากากอนามัย-รองพื้น’ คำนวณด้วย

สนค. ปรับ ปีฐาน “เงินเฟ้อ” สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ดึง “หน้ากากอนามัย-รองพื้น” มาอยู่ในตะกร้าคำนวณด้วย

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป สนค. จะเริ่มคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) โดยใช้ปีฐานใหม่ ซึ่งตามปกติต้องปรับทุก 4-5 ปี

2564 เงินเฟ้อ ปีฐาน ใหม่

โดยรอบนี้ได้มีการกำหนดรายละเอียดให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่และการผลิตได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

สำหรับ เงินเฟ้อ ได้ปรับโดยใช้ ปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศเสร็จ และเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมั่นใจว่าเป็นปีฐานที่เหมาะสม ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตนั้นจะใช้ตาราง Input-Output ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2558 เป็นฐานเพราะเป็นข้อมูลล่าสุด

การปรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่ปีนี้มีประเด็นที่สำคัญ เช่น ครอบคลุมครัวเรือนที่มีรายได้ 6,987-50,586 บาทต่อเดือน (จากเดิม 12,000-62,000 บาท) หรือคิดเป็น 71% ของครัวเรือนทั่วประเทศ (จากเดิม 29%) รวมค่าใช้จ่ายไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นเป็น 42.19% (จากเดิม 30%) ลดสัดส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงเป็น 22% (จากเดิม 42%)

ขณะเดียวกันได้ปรับรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยเฉพาะยุคโควิด-19 สุขภาพนิยม และสังคมผู้สูงอายุ โดยจะมีจำนวนสินค้าและบริการทั้งสิ้น 430 รายการ (จากเดิม 422 รายการ) ประกอบด้วย สินค้าจำนวน 341 รายการ และบริการจำนวน 89 รายการ

ดยมีรายการสินค้าและบริการใหม่ๆ อาทิ หน้ากากอนามัย อาหารจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ผลิตภัณฑ์รองพื้น ค่าอาบน้ำและตัดแต่งขนสัตว์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ยาขับลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น และมีการปรับน้ำหนัก (weight) ของการบริโภคแต่ละรายการให้สอดคล้องกับโครงสร้างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

เงินเฟ้อ 2564

นอกจากดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปทั้งประเทศแล้ว ยังมีการปรับเงินเฟ้อของกลุ่มนอกเขตเทศบาล ชุดผู้มีรายได้น้อย และชุดรายจังหวัดให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณและปีฐานใหม่ด้วย โดย เงินเฟ้อ ชุดผู้มีรายได้น้อยจะปรับมาใช้นิยามของนโยบายรัฐบาล คือ เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี หรือไม่เกิน 22,665 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือ 8,333 บาทต่อคนต่อเดือน (เฉลี่ยครัวเรือนละ 2.72 คน) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ชัดเจนขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลต่อไป

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ได้เปลี่ยนจากปีฐาน 2553 เป็นปีฐาน 2558 (ใช้ข้อมูลน้ำหนักโครงสร้างจากตาราง I/O ของสภาพัฒฯ) โดยมีการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหมวด/หมู่/รายการสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีความสอดคล้องกับการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในการนำข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตไปใช้ในการวิเคราะห์ กำหนด และวางแผนนโยบายด้านการค้าร่วมกับเครื่องชี้วัดด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งได้ปรับปรุงรายการสินค้าและสัดส่วนความสำคัญของสินค้าให้มีความทันสมัยตามโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ปีฐาน 2558 มีจำนวนรายการสินค้าทั้งสิ้น 501 รายการ

“การปรับปรุงปีฐานของทั้ง 2 ดัชนีในครั้งนี้ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563 ทั้งในด้านวิธีการคำนวณ การคัดเลือกสินค้าและบริการลงตะกร้าการคำนวณ และการกำหนดขอบเขตกลุ่มตัวอย่าง จึงมั่นใจว่า เครื่องชี้วัดด้านราคาชุดนี้ จะสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการบูรณาการเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในระดับโครงสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยดัชนีปีฐานใหม่ทั้ง 2 ชุดจะเริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กุมภาพันธ์” นางพิมพ์ชนกกล่าว

shutterstock 1697230447 1 e1610972118998

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การประกาศอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนธันวาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลง 0.27% และอัตราเงินเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 2563 ลดลง 0.85% โดยเหตุผลหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องมาจากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19

นอกจากนี้ สนค. คาดการณ์ว่า อัตรา เงินเฟ้อ ในปี 2564 จะเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 – 1.7% โดยไตรมาสที่ 1 น่าจะมีตัวเลขติดลบจากความกังวลเรื่องไวรัสโควิด-19 และเป็นบวกในไตรมาสอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo