Business

‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ค่าโดยสาร 104 บาทไม่แพง! ‘กทม.’ ยืนยันเริ่มเก็บ 16 ก.พ.

“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ค่าโดยสาร 104 บาทไม่แพง ลองเทียบดู! “ผู้ว่าฯ กทม.” ยืนยันเริ่มเก็บ 16 ก.พ. ตามเดิม มีแต่คำสั่งรัฐบาลถึงเบรกได้

จากกรณีที่นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม แถลงผลการประชุม กมธ. กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า กมธ. ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัมปทานครั้งนี้ และ กมธ. ขอให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชะลอการเก็บค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสาย ที่จะมีผลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อนนั้น

รถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ยืนยันจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ประกาศไว้ ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 อย่างแน่นอน หากจะชะลอได้มีกรณีเดียว คือ รัฐบาลสั่งให้ชะลอ

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สำหรับอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว เก็บสูงสุดที่ 104 บาท ต่อเที่ยว ไม่ได้แพงเกินไป และรถไฟฟ้าสายอื่นก็เก็บค่าโดยสารไม่ได้ถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด สามารถเปรียบเทียบกันได้แบบกิโลเมตรต่อกิโลเมตร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 1.62 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนสายสีเขียว 1.23 บาทต่อกิโลเมตร นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายอื่นรัฐบาลออกค่าก่อสร้างให้ทั้งหมดแสนกว่าล้าน แต่สายสีเขียวรัฐบาลไม่ได้ออกค่าก่อสร้างให้แม้แต่สลึงเดียว

“กทม. ยืนยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า และทำถูกต้องตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุน หากไม่ถูกต้องให้ยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. ได้เลย” พล.ต.อ.อัศวิน

ด้านกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีหนังสือให้ กทม. ชะลอการเก็บค่าโดยสารออกไปก่อนนั้น กระทรวงคมนาคมก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่ กทม. ก็มีเหตุผลเหมือนกัน เพราะถ้าชะลอออกไปอีก จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เอกชน แต่หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่ กทม. เสนอทุกอย่างก็จบ ส่วน ครม. จะพิจารณาเมื่อไหร่ตอบไม่ได้

ประยุทธ์2312 e1608702141796

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้า รถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เป็นเรื่องของการหารือดำเนินการของคณะผู้รับผิดชอบด้วยกันอยู่ ตนคงไม่ตอบเรื่องเหล่านี้

“ผมทราบว่าอาจจะมีการมาถามผม ให้ผมชี้นำให้ผมตอบไป ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำงาน มีคนทำงานตั้งหลายคณะ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดี๋ยวเขาก็เสนอแนวทางแก้ไขมาจนได้นั่นแหล่ะ เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะสั่งได้ทุกเรื่อง ก็ต้องดูข้อกฎหมาย ดูความรับผิดชอบ หลายๆ อย่างเกิดมาตั้งแต่เมื่อไรก็ต้องไปว่ากัน ผมก็ไม่โทษใคร แต่ผมพยายามจะแก้ทุกอย่างอยู่ และวางอนาคตให้ประเทศชาติด้วย มีอย่างเดียว ผมขออย่างเดียว ขอความร่วมมือ ขอความเข้าใจ ขอความไว้ใจ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่เป็นสาระ ผมก็พยายามจะไม่พูด ดังนั้นอย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นสาระมาถามผม หลายเรื่องเป็นเรื่องความขัดแย้ง” นายกฯ กล่าว

 

“กทม.” ชี้แจงที่มาค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 104 บาท

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 กทม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด มีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่ วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงทดลองให้บริการซึ่งยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีมาแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

บัดนี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต–อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต–อ่อนนุช และสะพานตากสิน–สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน–บางหว้า และอ่อนนุช–แบริ่ง และช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าสำหรับการใช้บริการโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ปรากฏตามตารางด้านล่างนี้

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง กทม. เห็นว่าแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทาง ที่เหมาะสมและดีที่สุดในการที่จะมาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม

โดยในปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย

  • ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
  • ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
  • ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย อีกประมาณ 9,000 ล้านบาท
  • ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

กทม. ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย ลดลงมาเหลือ 65 บาท โดยเร็วที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo