“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มอง “ท่องเที่ยวไทย” บนทาง 2 แพร่ง ถ้าปราบโควิด-19 จบเร็ว เงินสะพัด 6.6 แสนล้าน หากจบช้า-ติดเชื้อกลุ่มก้อน จ่อสูญ 1.6 แสนล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ การท่องเที่ยวในประเทศ ปี 2564 ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564 ต้องกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอกใหม่ ส่งผลทำให้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด โดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และการขอความร่วมมือประชาชนในการงดหรือชะลอการเดินทางระหว่างจังหวัดจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะปรับลดจำนวนความถี่ในการให้บริการระหว่างจังหวัด เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งได้ปิดให้บริการชั่วคราว
อย่างไรก็ดี ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2564 น่าจะยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ตลาดไทยเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะมีจำนวนเพียงประมาณ 86.3 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัวสูงถึง 50.0% จากปี 2562
พยากรณ์ “ท่องเที่ยวในประเทศ” 2 เคส โควิดจบช้า เสี่ยงสูญ 1.6 แสนล้าน
ตลาดไทยเที่ยวไทยมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ทิศทางตลาด ท่องเที่ยวไทย ออกเป็น 2 กรณี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวที่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโควิด ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนธุรกิจและการปรับตัวรองรับกับกรณีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
- กรณีที่ 1 ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2564 เงื่อนไขที่ไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะทยอยกลับมา ทำให้ทั้งปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 120 ล้านคน-ครั้ง
กรณีที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่มีการระบาดระลอกใหม่ หรือพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่มองว่าการใช้วัคซีนน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทางการได้วางไว้ (โดยทางกระทรวงสาธารณสุขวางแผนระยะแรกน่าจะเริ่มได้ในเดือน ก.พ. – เม.ย. 64) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 39% จากปี 2563 (แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งคนไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 172.7 ล้านคน-ครั้ง) โดยการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปีนี้ และน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.6 แสนล้านบาท
กรณีที่ 2 ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2564 แม้จะควบคุมการระบาดของโควิดระลอกใหม่ได้ แต่ความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มจนส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังมีอยู่ ทำให้ทั้งปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 90 ล้านคน-ครั้ง
กรณีที่ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 และมองว่าการใช้วัคซีนน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทางการได้วางไว้ แต่เนื่องจากการระบาดของโควิดในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ ความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศยังมีอยู่ ซึ่งหากเกิดการระบาดระลอกใหม่หรือพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยในบางช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี
แต่เนื่องจากมองว่าระดับการระบาดของโควิดน่าจะไม่รุนแรง จนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดดังเช่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะเติบโตได้เล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการเดินทาง ท่องเที่ยวในประเทศ ของคนไทยทั้งปี 2564 นี้ น่าจะมีจำนวน 90 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2563 ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 5.0 แสนล้านบาท
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ แต่เมื่อหลายประเทศยังมีการระบาดของโควิด-19 กอปรกับการใช้วัคซีนยังจำกัด ทำให้ความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ยังมีสูง ดังนั้น มาตรการป้องกันการกลับมาระบาดของโควิดในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังมีความจำเป็นและต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อลดโอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดอีกครั้ง อันจะสร้างความสูญเสียต่อภาคการท่องเที่ยวและผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจท่องเที่ยว
เสนอรัฐสนับสนุนตลอดปี
สำหรับมุมมองต่อนโยบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการน่าจะขยายระยะเวลา โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือมีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจนถึงสิ้นปี 2564 นี้ เนื่องจากภาคธุรกิจในห่วงโซ่ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดระลอกใหม่และต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าธุรกิจจะฟื้นตัว อีกทั้งกว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ก็คงต้องใช้ระยะเวลากว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทางการต้องมีการจัดสรรงบประมาณไปในหลายภาคส่วน ทำให้มาตรการการท่องเที่ยวที่ออกมาคงจะต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การนำข้อมูลจากมาตรการท่องเที่ยวอย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือผลสำรวจของทางการมาวิเคราะห์ (Data Analysis) (ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ก็น่าจะช่วยให้สามารถออกแบบมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ตรงกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ จำนวนความถี่ของนักท่องเที่ยวในการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อมาประกอบการพิจารณาสิทธิจำนวนการจองห้องพักต่อ 1 สิทธิ (ปัจจุบัน สามารถจองห้องพักได้ 15 คืน) เป็นต้น
นอกจากนี้ การปรับรูปแบบการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีขั้นตอนการใช้งานง่ายเอื้อต่อกลุ่มที่ไม่คุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการ ท่องเที่ยวในประเทศ ที่อาจจะมีความต่างกันในแต่ละโซนท่องเที่ยว หรือ Destination Strategies โดยเฉพาะในปีนี้ รัฐบาลได้มีการนำร่องวันหยุดประจำภาค เพื่อเป็นการกระจายการท่องเที่ยวของคนไทยไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และจังหวัดที่พึ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
แนะผู้ประกอบการ “มองสั้น-ยืดหยุ่นสูง”
สำหรับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยวในระยะนี้คงต้องปรับแผนธุรกิจโดยมองระยะสั้นขึ้น เนื่องจากธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูงจากโควิด-19 การบริหารจัดการต้องมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อช่วยให้สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดระยะสั้นได้ และในภาวะที่ธุรกิจยังไม่ได้เปิดบริการเต็มที่ ผู้ประกอบการควรจะรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น การนำเสนอสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่มาพัก การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านสื่อดิจิทัลด้วยการสร้างกิจกรรมอย่างการแบ่งปันสูตรอาหารที่เป็น Signature จากเชฟของโรงแรม หรือการแชร์คลิปแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ วิถีใหม่ของการทำธุรกิจ มีความสำคัญ โดยเฉพาะในมาตรการดูแลป้องกันโรคโควิด-19 การบริหารจัดการระยะห่าง ยังมีความจำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ เช่น การจำกัดปริมาณผู้พัก แต่ขณะเดียวกันก็อาจเพิ่มการบริการในรูปแบบส่วนตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาระดับรายได้ให้คงที่ แทนการมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ท่องเที่ยว’ กระอักพิษโควิด ไทยรั้งที่ 4 รายได้หดหายมากที่สุดในโลก
- ถก ‘แรงงาน’ หารเงินเดือนพนักงานท่องเที่ยว ‘คนละครึ่ง’ 7,500 บาท ยื้อธุรกิจ
- ใช้สิทธิ์ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ขอเลื่อนวันเข้าพักย้อนหลังได้ถึง 1 ธ.ค. 63