Business

‘บ้านปู’ จัด UpImpact’ ผลักดัน ‘กิจการเพื่อสังคม’ รอดพ้นวิกฤติ

บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคม ให้รอดพ้นวิกฤติ  พร้อมปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564

ปี 2563 นับเป็นปีแห่งความท้าทายเหนือกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ต้องปรับกลยุทธ์ และเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอดให้ได้ ในยุคที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

ด้วยสถานการณ์ที่ทุกคนยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือว่าเอกชนต่างก็ต้องร่วมมือกันและช่วยกันฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

UpImpact by BC4C

นี่จึงเป็นที่มาให้บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในรูปแบบของกิจกรรม “UpImpact by Banpu Champions for Change” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของบริษัท กับ ChangeFusion องค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า กิจการเพื่อสังคมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถกลับมาเข้มแข็ง และเติบโตได้ด้วยตนเอง จึงคัดเลือกผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม 20 ทีม ทั้งที่เป็นศิษย์เก่าในโครงการ BC4C และผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ในการขยายผลลัพธ์ทางสังคม มาเข้าร่วมเสริมความรู้ และทักษะทางธุรกิจ

ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม โดยกูรู และผู้มีประสบการณ์ภายใต้หลักการ Up-Thinking → Up-Skilling → Up-Implementing (เพิ่มมุมมอง → เพิ่มทักษะ → เพิ่มประสิทธิผลการดำเนินงาน) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้องค์ความรู้ที่จับต้องได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ นำไปสู่การคิด และวางแผนในการพัฒนาธุรกิจ

Flow Folk Workshop at Chiangrai

การพัฒนาทักษะทางธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรที่สอดคล้องต่อเป้าหมาย และการปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจให้มีความเหมาะสม ด้วยระบบที่ปรึกษา และการช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) รวม 4 ครั้ง เสริมให้กับผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไป ครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ เช่น การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค การตลาดออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ การหาแหล่งทุน การปรับขยายขนาดธุรกิจ เป็นต้น

“UpImpact by Banpu Champions for Change” สู่การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม

นิโลบล ประมาณ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 5 ตัวแทนจาก Flow Folk กิจการเพื่อสังคม ที่ช่วยชุบชีวิตงานคราฟต์ของชุมชน โดยนำเอาทรัพยากรท้องถิ่น มาต่อยอดให้เกิดคุณค่า และมูลค่าเพิ่ม บอกว่า

“การได้เข้าร่วมกิจกรรม UpImpact by Banpu Champions for Change ทำให้เราเข้าใจธุรกิจตัวเองชัดเจนขึ้น และมองเห็นแนวทางในการต่อยอดธุรกิจ ให้มีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อพร้อมขยายธุรกิจของเราออกไป เพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมรายอื่นๆ เช่น การเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำแก่ อัตลักษณ์ หนึ่งในกิจการเพื่อสังคม ที่เข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 9 ชุมชนเด่นป่าสัก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และวิสาหกิจชุมชน นาตมอินทรีย์พัฒนา จังหวัดแพร่ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าท้องถิ่น เพื่อสร้างการเติบโตไปสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น”

Young Happy Online Daily Challenge

ด้าน สาริสา กนกธัญรัชต์ ตัวแทนจาก Young Happy กิจการเพื่อสังคม ที่มุ่งสร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงอายุ ทั้งในไทย และในต่างประเทศ บอกว่า

“หลังเข้าร่วมกิจกรรม UpImpact by Banpu Champions for Change  และพบเจอความท้าทาย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในปีที่ผ่านมา Young Happy มีการปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบัน มีสมาชิกในทุกช่องทาง ทั้งใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ และแอปพลิเคชันกว่า 100,000 คน สิ่งที่เราได้พัฒนากับธุรกิจของเราเพิ่มเติมคือ การใช้แนวทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการเรียนรู้เชิงบันเทิง (Edutainment) ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้สูงอายุ เช่น กิจกรรม Online Daily Challenge ที่สร้าง mission ให้พี่ ๆ ผู้สูงอายุได้ร่วมสนุก กับการทำภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภารกิจดื่มน้ำ 8 แก้วในแต่ละวัน ภารกิจแกว่งแขนบำบัดโรค ฯลฯ เราได้เรียนรู้วิธีการวัดผลที่ทำให้เห็นผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้การทำงานของเรา เป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังได้ไอเดียของการสร้างเครือข่าย SE เพื่อทำโครงการใหม่ๆ ในอนาคตด้วย”

สำหรับ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ตัวแทนจากเว็บไซต์ Toolmorrow ผู้สร้างสรรค์ และผลิตคอนเทนต์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก และเยาวชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้ความเห็นถึงการเข้าร่วมกิจกรรม UpImpact by Banpu Champions for Change ว่า  การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้ผู้ประกอบการ มองเห็นช่องทางการขยาย และต่อยอดธุรกิจ โดยการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่

ในปีที่ผ่านมา Toolmorrow ได้เริ่มจัดกิจกรรม Online Group Sharing ให้กับกลุ่มผู้ปกครองอาสา และผู้ปกครองที่สมัครเข้ามาเรียน ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การปรับพฤติกรรม ที่ปฎิบัติกับลูกหลานของตัวเอง

UpImpact Webinar 3

“เรารู้จักการสร้างพันธมิตรทั้งในส่วนภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานของ Toolmorrow อย่างเป็นระบบมากขึ้น ทำให้ Toolmorrow มี core value ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเรามองภาพธุรกิจตัวเองชัดเจนขึ้น ก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย”

ความตั้งใจของผู้ให้

อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 นับว่าครบวาระปีที่ 10 ของการดำเนินโครงการนี้พอดี เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้น  บริษัทจึงต้องปรับรูปแบบกิจกรรมมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

สำหรับกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ และเวิร์คช็อป “UpImpact by Banpu Champions for Change” นี้ บ้านปูหวังว่า จะช่วยติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ SE ได้เก็บเกี่ยวไอเดียจากกูรู และผู้มีประสบการณ์เอาไปต่อยอด เพื่อตั้งหลัก และเดินหน้ากิจการของพวกเขาต่อได้อย่างมั่นคงในช่วงเวลาสุดท้าทายนี้ และพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

อุดมลักษณ์ โอฬาร
อุดมลักษณ์ โอฬาร

สำหรับกิจกรรมในปีที่ผ่านมานับว่าเป็นไปตามความมุ่งหวังอย่างยิ่ง เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ 20 ทีม SE ที่เข้าร่วมกิจกรรม  พวกเขาสามารถแชร์ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม กลับไปยังท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน รวมไปถึง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

ทางด้าน สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion ในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์แห่งความตั้งใจครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า  การจัดกิจกรรม UpImpact นับว่าประสบความสำเร็จ ในการช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้ ร่วมหาแนวทางปรับตัว และพัฒนาธุรกิจ พร้อมทั้งก้าวต่อไป ในแบบที่ได้ประโยชน์ ทั้งต่อธุรกิจของตนเอง และให้กับสังคม การเผชิญหน้ากับโควิด-19 จึงเป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันค้นหาหนทางใหม่ ๆ ในการต่อยอดธุรกิจของตนเอง

สุนิตย์ เชรษฐา
สุนิตย์ เชรษฐา

การรับฟังประสบการณ์ และคำแนะนำ ที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และกิจการ เพื่อสังคมยังช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางใหม่ การมีความเข้าใจในธุรกิจของตัวเองที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาการบริหารงานภายใน และพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร เพื่อตั้งรับกับความท้าทาย ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรในเครือข่ายกิจการเพื่อสังคม ที่ต่อยอดเป็นความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเน้นย้ำให้เชื่อมั่นว่า กิจการเพื่อสังคมคือการดำเนินธุรกิจ เพื่อความยั่งยืนที่มีส่วนสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชน

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการ “Banpu Champions for Change” ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Banpu Champions for Change 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo