Business

เปิด 5 เหตุสำคัญ! จี้กทม.ลดค่าโดยสารสายสีเขียว

กมธ.คมนาคม ป้องประชาชน เดินหน้าค้านกทม. ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย ระบุเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ไม่สนใจข้อท้วงติงราชการ เชื่อทำให้ราคาได้ต่ำกว่า 65 บาทได้  เรียกแจง 21 ม.ค.นี้ พร้อมส่งเรื่องรัฐบาลคัดค้านถึงที่สุด
 
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการ การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท เป็นการซ้ำเติมประชาชน ในช่วงวิกฤติ COVID -19 เรื่องนี้คณะกรรมาธิการการคมนาคม ได้แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการคิดอัตราค่าโดยสาร สายสีเขียว ตลอดสาย 65 บาท พร้อมขอให้ กทม. ชี้แจงที่มาของการคำนวณราคา ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 จนบัดนี้ ยังไม่ได้รับข้อมูล แต่กลับข่มขู่ประชาชน ว่าจะขึ้นราคา 104 บาท ในเดือนก.พ.นี้

ที่ผ่านมากรรมาธิการการคมนาคม ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า การคิดอัตราค่าโดยสาร ต้องเปิดเผยที่มาการคิดราคาอย่างโปร่งใส และเชื่อว่าสามารถคิดราคาได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ

โสภณ2
1. การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยคิดราคาค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ทางกทม. ควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ว่ามีฐานการคิดคำนวณอย่างไร เนื่องจากการสอบถามข้อมูลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงคมนาคม เห็นว่ายังสามารถลดค่าโดยสารลงได้ต่ำกว่า 65 บาท คณะกรรมาธิการ จึงเห็นว่าค่าโดยสารสามารถลดลงได้อีก เนื่องจากปริมาณการเดินทางในอนาคตจะมีมากขึ้น ต้นทุนต่อการเดินรถควรจะถูกลง จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้มากขึ้น

2. ประชาชน ควรจะได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ในการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ เช่น การลดค่าแรกเข้าระบบ ที่ไม่ควรจะมีการคิดซ้ำซ้อน และไม่มีเงื่อนไขซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้โดยสาร

3. หากยังไม่มีการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งกำลังจะหมดลงในปี 2572 หรือในอีก 9 ปี ข้างหน้า สินทรัพย์ทั้งหมดจะกลับมาเป็นของรัฐ คือ กทม. จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า เนื่องจาก รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีกำไร หลังจากหักค่าจ้างเดินรถแล้ว จะมีกำไรไม่น้อยกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต กำไรดังกล่าว สามารถนำมาบริหารจัดการ ช่วยลดอุดหนุน เส้นทางรถไฟฟ้าอื่น ๆ ที่อยู่นอกเมือง ส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ใช้รถไฟฟ้าในอัตราที่ถูกกว่า คนในใจกลางเมือง

การที่อ้างว่า กทม. ไม่มีความสามารถทางการเงินในการชำระหนี้ และบริหารจัดการ ไม่เป็นความจริง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง มีศักยภาพทางธุรกิจที่ชัดเจน สามารถระดมเงินเพื่อบริหารจัดการ ได้จากแหล่งเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคาร แหล่งทุน เนื่องจากมีรายได้มหาศาล

โสภณ

4. การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ควรเปิดเผยรายงานการประชุม ต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยทั่วไปได้

5. การต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน เช่น พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง 2562 และการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ

นายโสภณ  กล่าวว่าหากกทม. ยังคงยืนยันการดำเนินการเรื่องรถไฟสายสีเขียวในยามวิกฤติ ความเดือดร้อนของประชาชนถือว่า เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ของบ้านเมือง และยังไม่ฟังเสียงประชาชนและข้อทักท้วงจากส่วนราชการ และข้อแนะนำจากภาคประชาชน

“กรรมาธิการจะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาหารือในวันที่ 21 ม.ค.นี้  เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมแจ้งเรื่องคัดค้านไปยังรัฐบาล เพื่อสั่งให้ยุติวิกฤติความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายโสภณ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight