Business

เปิดเบื้องหลัง ‘เมียนมา’ ยกเลิกสัมปทาน ‘อิตาเลียนไทย’

เปิดเบื้องหลัง “ขาดเงิน ก่อสร้างล่าช้า” สาเหตุรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจ ยกเลิกสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของกลุ่มบริษัทก่อสร้างไทย “อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์” (ITD) 

โครงการทวาย เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลเมียนมา และไทย ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจไทย สามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องผ่านทางช่องแคบมะละกา

Dawei

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า นอกจากเมียนมา และไทยแล้ว ญี่ปุ่น ยังเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อสร้างศูนย์กลางการค้าที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค แต่ความก้าวหน้าของโครงการ กลับได้รับผลกระทบจากความล่าช้าต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักพัฒนาไทย เผชิญกับความยากลำบาก ในการหาเงินทุน

อิตาเลียนไทย เปิดเผยเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.)ว่า ได้รับแจ้งจากรัฐบาลเมียนมา ว่า สั่งระงับสัญญาสัมปทานของบริษัทแล้ว โดยระบุว่า ITD ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้

นักวิเคราะห์มองการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า รัฐบาลเมียนมามีแนวโน้มที่จะขจัดความไม่แน่นอน โดยนำ ITD ออกจากสมการ และดึงดูดผู้เล่นต่างชาติรายอื่น ๆ เข้ามาในโครงการทวาย ที่ชะงักงันมาเป็นเวลานาน

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลอันดามันนี้ ครอบคลุมพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร ซึ่ง ITD ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อปี 2558 เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่มีท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า และถนน ส่วนหนึ่งของการพัฒนาระยะแรก ที่ทวาย

40273321 233416610855212 1922374421922709504 n 1

ที่ผ่านมา ทางการเมียนมา แสดงความไม่พอใจหลายครั้ง ที่โครงการไม่มีความคืบหน้า และต้องการที่จะดำเนินการพัฒนาระยะแรก และระยะที่สองไปพร้อม ๆ กัน โดยร่วมมือกับญี่ปุ่น และพันธมิตรรายอื่น ๆ

เมื่อปี 2558 ญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงกับเมียนมา และไทย เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งยังจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทวาย ผ่านทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ เจบิค แต่ญี่ปุ่นจะไม่ได้มีบทบาทในโครงการมากนัก จนกว่าการพัฒนาระยะแรกจะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาระหว่างรัฐบาล เกี่ยวกับโครงการนี้ แทนที่จะเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

แหล่งข่าวจากเมียนมา ระบุว่า นอกจากญี่ปุ่นแล้ว บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนหลายราย แสดงความสนใจที่จะเข้ามาสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องในโครงการทวาย สถานการณ์ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นหนึ่งในเหตุผล ที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจเคลื่อนไหวเชิงรุกในโครงการนี้ เพราะต้องการที่จะต้านทานอิทธิพลของจีน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

นอกจากทวายแล้ว เมียนมา ยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษทิละวา ใกล้กับนครย่างกุ้ง ที่กำลังพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู ที่อยู่บนฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่จนถึงขณะนี้ มีเพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษทิละวาเท่านั้น ที่เปิดดำเนินการแล้ว

52829715 332338477629691 863770695488765952 n

‘อิตาเลียนไทย’ สู้ โดนยกเลิกสัมปทาน ทวาย

ทั้งนี้  ITD ส่งหนังสือเรื่อง แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ความว่า ตามที่บริษัทและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Project Companies) รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก

โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Dawei Special Economic Zone Management Committee: DSEZ MC) เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 จำนวน 6 ฉบับ และ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 อีก 1 ฉบับ รวมสัญญาสัมปทานจำนวน 7 ฉบับ

36634282 174042190125988 2509736995224289280 n

บริษัทขอแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน รวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ครั้งที่ 4/1/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และ ได้มีมติให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ดำเนินการจัดทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาของ DSEZ MC ข้างต้นโดยด่วน ซึ่งบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ภาพ :  เฟซบุ๊กเพจ Dawei Special Economic Zone

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo