Business

ไฟเขียวขยายใช้ e-Withholding Tax ได้ ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถึงปี 65

ครม. ไฟเขียวส่งเสริมเอกชนใช้ e-Withholding Tax ได้ลด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ถึงสิ้นปี 65 ช่วยเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ 2.5 หมื่นล้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ (12 ม.ค. 64) ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยลดอัตรา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตรา 5% และ 3% เหลือ 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565

มาตรการดังกล่าวจะช่วยคืนสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 24,840 ล้านบาท

e-Withholding Tax ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุน และการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax หรือระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีต้นทุน และภาระในการจัดทำ และการจัดเก็บเอกสารรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

“ระบบ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในนโยบาย Tax From Home ที่กรมสรรพากรได้นำการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้เพื่อให้การปฏิบัติการและชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกที่ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19” นายเอกนิติกล่าว

มติ ครม. ส่งเสริม e-Withholding Tax

วานนี้ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง

1.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และการใช้บริการระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt ของผู้ให้บริการ แต่ไม่รวมถึงการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS)

รวมทั้งเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครอบคลุมถึงการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax ของผู้ให้บริการ ได้เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

2.ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

โดยขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 3% เหลืออัตรา 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่มีอัตรา 5% เหลืออัตรา 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้

ประมาณการการสูญเสียรายได้

  • ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 3,000 ล้านบาท
  • ร่างกฎกระทรวงฯ จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการประมาณ 24,840 ล้านบาทซึ่งกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

  • ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
  • ภาคเอกชนจะมีการใช้ระบบ e-Withholding Tax อย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมระหว่างกันและการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 0) และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ภาคเอกชนจะมีต้นทุนและภาระในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม        

Avatar photo