Business

ครม. จี้ ‘ประกันสังคม’ หาแนวทางเยียวยาโควิด-19 ‘มาตรา 39 – มาตรา 40’ เพิ่ม

ครม. จี้ “ประกันสังคม” หาแนวทาง เยียวยาโควิด-19 “มาตรา 39- มาตรา 40” เพิ่ม พร้อมดูแลมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่ถึง 6 เดือน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ม.ค. 64) ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว

เยียวยาโควิด-19 ประกันสังคม

รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในระยะต่อไป เช่น พิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่จำกัดเฉพาะเด็กจบใหม่ ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจให้มากขึ้น รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 ใน 15 เดือน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ครม. เห็นชอบมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตนเองเป็นสถานที่ในการกักตัวแรงงานในพื้นที่โรงงาน (Factory quanrantine)

โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยองจันทบุรี และตราด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยินดีให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่โรงงานของตนเองเป็นสถานที่กักตัวแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ภายในโรงงานและป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต

shutterstock 1598015770

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการจำนวน 11 ล้านคนเท่านั้น

ส่วนมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ และมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนนอกระบบ รวมกว่า 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิ์รับเงินทดแทนประเภทดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน

 

เงื่อนไข เยียวยาโควิด-19 “ประกันสังคม” 2564

สำนักงานประกันสังคมได้มีความพร้อมรองรับการให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 แก่ผู้ประกันตน ตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”

กฏกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 โดยผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิเยียวยาโควิด-19 จาก ประกันสังคม ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือนย้อนหลัง จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค
  • ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างซึ่งเข้าเกณฑ์ 3 ข้อดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

เพื่อความชัดเจนขอย้ำว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าวจะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงานและนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น

วิธีลงทะเบียน “ว่างงานโควิด-19” ประกันสังคม

ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการขอรับได้ตั้งแต่วันนี้ 4 มกราคม 2564 ตามขั้นตอนดังนี้

1.ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 จากลูกจ้าง

ประกันสังคม ว่างงานโควิด-19

3.นายจ้างบันทึกข้อมูลใน ระบบ e-Service บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตาม แบบ สปส. 2-01/7 และ หนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว **กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

4.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service แล้วนำส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e-Service เสร็จสิ้น

5.ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เงินทดแทนจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ

ในการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นั้น ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม และหากดำเนินการดังที่กล่าวครบถ้วนเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด กรณีเงินไม่เข้าบัญชีโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo