Business

พิษโควิด-19 รอบ 2 ‘สนามบินภูมิภาค’ ผู้โดยสารวูบ 60% แอร์ไลน์จี้ขยายเยียวยา

พิษ โควิด-19 รอบ 2 “สนามบินภูมิภาค” ยกเลิกวันละ 30 ไฟลท์ ผู้โดยสารหาย 60% แอร์ไลน์จี้ขยายเยียวยา ด้าน บวท. คาดไวรัสกระทบระยะสั้น

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดี กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงสถิติเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารของสนามบินภูมิภาคสังกัด ทย. ว่า ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ 2564 สนามบินสังกัด ทย. มีปริมาณเที่ยวบินมาใช้บริการเฉลี่ย 160 เที่ยวบินต่อวัน แต่หลังจากนั้น ปริมาณเที่ยวบินได้ปรับลดงอย่างต่อเนื่อง มากถึง 40% โดยปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 100 เที่ยวบิน

สาเหตุเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ทำให้ประชาชนไม่กล้าเดินทาง และยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับมาตรการกักตัวของแต่ละจังหวัดว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร ส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยขอยกเลิกการทำการบินในหลายเส้นทางอย่างต่อเนื่อง

โควิด-19 สนามบินภูมิภาค

นอกจากนี้ สายการบินเริ่มส่งหนังสือมายัง ทย. ขอให้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าธรรมเนียมการลงจอดเครื่องบินมาบ้างแล้ว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดของการให้ความช่วยเหลือต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการแจ้งยกเลิกเที่ยวบินใน สนามบินภูมิภาค เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 นั้น จากสถิติ ทย. พบว่าสายการบินเริ่มขอยกเลิกเที่ยวบินมาครั้งละมาก ๆ มาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 สายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบินจำนวนรวม 30 เที่ยวบิน และเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 แจ้งยกเลิกเที่ยวบินจำนวนอีก 30 เที่ยวบิน หรือแจ้งยกเลิกเฉลี่ยวันละ 30 เที่ยวบิน  เหลือให้บริการเพียงวันละ 100 เที่ยวบิน ส่วนปริมาณผู้โดยสารในขณะนี้พบว่า มีการปรับลดลงมาถึง 60% โดยมีปริมาณเฉลี่ยวันละ 1.2 หมื่นคน ลดลงจากวันละ 3 หมื่นคนในช่วงก่อนหน้า

 

“บวท.” คาด โควิด-19 กระทบระยะสั้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้หลายประเทศต้องประกาศมาตรการปิดพื้นที่ (Lockdown) ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งทางอากาศทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ธุรกิจการบินเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลง

ในภาพรวมตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 464,944 เที่ยวบิน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 1,042,342 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 55%

S 21635123

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) (ปฏิบัติการ) เปิดเผยการคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินปี 2564 ว่า สถานการณ์ยังคงอยู่ภายใต้การได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรค โควิด-19 แต่จะมีแนวโน้มดีขึ้นหากมีความเป็นไปได้ในการนำวัคซีนมาใช้ในอนาคต รวมถึงปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาล

แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังอยู่ในอัตราแบบชะลอตัว ซึ่งการคาดการณ์เที่ยวบินในภาพรวมจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกต่าง ๆ แต่อาจมีการชะลอตัวหากการระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะกระทบในระยะสั้นและจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น

ทั้งนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประเมินผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลกว่า จะกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับช่วงเวลาก่อนได้รับผลกระทบประมาณปี 2566-2567 โดยเที่ยวบินภายในประเทศจะกลับมาทำการบินได้เร็วกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวที่สายการบินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนั้น บวท. ในฐานะหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยได้ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศในอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และอัตรา 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ระหว่างเดือน เมษายน – ธันวาคม 2563

ยกเว้นค่าปรับจากการชำระล่าช้าของสายการบินผู้ถือหุ้นสำหรับค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจการบินสำหรับค่าเช่า และค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์สื่อสารเป็นจำนวน 90 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดชำระระหว่างเดือนมีนาคม – กันยายน 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo