Business

ละเอียดสุดๆ ขั้นตอนยื่นเยียวยาโควิด-19 ‘ประกันสังคม’ ข้อมูลครบ 5 วันได้เงินเลย

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหนัก กิจการหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวตามคำสั่งของภาครัฐ ด้านประชาชนและแรงงานที่อยู่ในระบบ ประกันสังคม ซึ่งเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ

กองทุนประกันสังคม ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือแรงงานในยามเดือดร้อน จึงได้ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง ในกรณีที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว

เยียวยาโควิด-19 ประกันสังคม

ขั้นตอนยื่น “ประกันสังคม” ขอรับเงิน เยียวยาโควิด-19

ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องการขอรับเงิน เยียวยาโควิด-19 จาก ประกันสังคม สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 และจดบันทึกแจ้งข้อมูลการหยุดงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน

3.นายจ้างบันทึกข้อมูลดังต่อไปนี้ในระบบ e-Service คลิกที่นี่ บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม ได้แก่

  • หนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีกักตัวหรือกรณีปิดตามคำสั่งทางราชการ
  • ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกันตนในแบบ สปส. 2-01/7 ได้แก่ เลขที่บัญชีธนาคารของผู้ประกันตน หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งได้ยื่นไว้กับนายจ้างในแบบคำขอ

**ทั้งนี้ กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๑๑๐๒

4.นายจ้างส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ที่ได้บันทึกไว้บนระบบ e-Service ไปยังสำนักงาน ประกันสังคม ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e-Service เสร็จสิ้น

5.ระบบทำการประมวลผลในแต่ละวัน โดยรวบรวมทุกรายการที่นายจ้างได้บันทึกข้อมูลแล้วส่งเข้าสู่ระบบ Sapiens ต่อไป ถ้าข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง

6.ระบบ Sapiens ประมวลผลในรูปแบบรายงานภายใต้สถานประกอบการรายบุคคล

7.เจ้าหน้าที่วินิจฉัย บันทึกวินิจฉัยสั่งจ่ายบนระบบ Sapiens รายคน

8.ระบบประมวลผลสั่งจ่ายข้อมูลเข้าบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้

9.กรณีบัญชีถูกต้อง เงินจะโอนเข้าบัญชีลูกจ้างผู้ประกันตนภายใน 5 วันทำการ แต่กรณีที่เลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง นายจ้าง/ผู้ประกันตนต้องโทรหรือไลน์แจ้งบัญชี จากนั้นจะย้อนกลับไปขั้นตอนที่ 7 เจ้าหน้าที่วินิจฉัยสั่งจ่ายบน ระบบ Sapiens รายคน

“เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้น ให้นำแบบฯ และหนังสือข้อมูลดังกล่าวข้างต้นในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อ ที่สำนักงานประกันสังคม อีกทั้งลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย” นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานกล่าว

shutterstock 1439659682

เงื่อนไขการรับเงินเยียวยา

ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 จะต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อดังต่อไปนี้

1.เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ

2.ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน

3.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค
  • ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

4.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างซึ่งเข้าเกณฑ์ 4 ข้อดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันจาก ประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

เพื่อความชัดเจนขอย้ำว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าวจะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงานและนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกในปี 2563 ประกันสังคม ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ว่างงานจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยกฎกระทรวงครั้งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563-31 สิงหาคม 2563

ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ กระทรวงแรงงานก็ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในพื้นที่ที่เสี่ยงจะถูกปิดกิจการอีกครั้ง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรปราการ, กรุงเทพฯ ,นนทบุรี, นครปฐม, ราชบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งในจังหวัดดังกล่าวมีผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม ที่มีสิทธิ์รับค่าทดแทนรวม 5.7 ล้านคน คิดเป็นวงเงินรวม 5,225 ล้านบาท

“เป็นการให้ความมั่นใจว่า หากมีการประกาศให้ปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเยียวยาดูแลให้ โดยเป็นเงินของกองทุนประกันสังคม” น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo