Business

ว่างงานเพราะโควิด-19 รอบใหม่เช็คเลย เงื่อนไขจ่ายเยียวยา 50% ‘ประกันสังคม’

ว่างงานเพราะ โควิด-19 รอบใหม่ 2564 เช็คเลย เงื่อนไขจ่าย เยียวยา 50% ของค่าจ้างจาก “ประกันสังคม” ลดความเดือดร้อน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จนรัฐได้มีคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการหลายประเภท ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว

เยียวยา ประกันสังคม โควิด-19

ในการนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีความพร้อมรองรับการให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”

กฏกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 โดยผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิ เยียวยา โควิด-19 จาก ประกันสังคม ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

1.ต้องเป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค
  • ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างซึ่งเข้าเกณฑ์ 3 ข้อดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

เพื่อความชัดเจนขอย้ำว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าวจะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงานและนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น

 

วิธีลงทะเบียน “ว่างงานโควิด-19” ประกันสังคม

ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการขอรับได้ตั้งแต่วันนี้ 4 มกราคม 2564 ตามขั้นตอนดังนี้

1.ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 จากลูกจ้าง

ประกันสังคม ว่างงานโควิด-19

3.นายจ้างบันทึกข้อมูลใน ระบบ e-Service บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตาม แบบ สปส. 2-01/7 และ หนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว **กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

4.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service แล้วนำส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e-Service เสร็จสิ้น

5.ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เงินทดแทนจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ

ในการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นั้น ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม และหากดำเนินการดังที่กล่าวครบถ้วนเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด กรณีเงินไม่เข้าบัญชีโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

นายทศพลกล่าวต่อไปว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤติโควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้างและผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ให้มากที่สุด

โควิด 19 ว่างงาน ประกันสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกในปี 2563 กระทรวงแรงงานก็ได้ออกร่างกฎกระทรวงในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ว่างงานจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยกฎกระทรวงครั้งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563-31 สิงหาคม 2563

ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ กระทรวงแรงงานก็ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในพื้นที่ที่เสี่ยงจะถูกปิดกิจการอีกครั้ง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรปราการ, กรุงเทพฯ ,นนทบุรี, นครปฐม, ราชบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งในจังหวัดดังกล่าวมีผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม ที่มีสิทธิ์รับค่าทดแทนรวม 5.7 ล้านคน คิดเป็นวงเงินรวม 5,225 ล้านบาท

“เป็นการให้ความมั่นใจว่า หากมีการประกาศให้ปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเยียวยาดูแลให้ โดยเป็นเงินของกองทุนประกันสังคม” น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo