Business

สรุป 10 ข่าวเด่น ประเด็นน่าจดจำ ‘ขนส่งมวลชนระบบราง’ ปี 2563

ปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่หลายคนต้องจดจำไปนานแสนนาน เพราะทั่วโลกต่างตกอยู่ในชะตากรรมเผชิญกับไวร้ายโควิด-19 ร่วมกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของ “ขนส่งมวลชนระบบราง” ในปี 2563 นอกจากเรื่องผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็ยังมี ข่าวเด่น ประเด็นดัง ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง รวมถึงมีการเปิดรถไฟฟ้าใหม่หลายเส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

The Bangkok Insight จึงขอประมวล 10 ข่าวเด่น “ขนส่งมวลชนระบบราง” ที่น่าสนใจในรอบปี 2563 ไว้ที่นี่

ข่าวเด่น ขนส่งมวลชนระบบราง 2563

  • “ในหลวง-พระราชินี” ทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย

รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ในเชิงพาณิชย์ 100% เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีลักษณะเป็น Q วนครบลูปรอบกรุงเทพฯ

รถไฟฟ้า ในหลวง 2563

ต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตในการใช้ชื่อเส้นทางส่วนต่อขยายว่า “เฉลิมรัชมงคล” สำหรับสายสีน้ำเงินทั้งสาย นำมาซึ่งความปีติยินดีและเป็นสิริมงคลแก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงผู้ใช้บริการ

S 12132534 0

  • เปิดวิ่ง “รถไฟฟ้าสายสีทอง” Feeder สายแรกของประเทศ

รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบรถไฟฟ้าสายรอง (Feeder) เส้นทางแรกที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และประเทศไทย โดยเชื่อมต่อกับ “สายสีเขียว” ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่สถานีกรุงธนบุรี

การพัฒนาโครงการเฟสที่ 1 ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน มีระยะทางเพียง 1.8 กิโลเมตร เริ่มเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทองจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ไอคอนสยาม, ล้ง 1919, ท่าเรือคลองสาน เป็นต้น โดยในอนาคตสามารถพัฒนาเส้นทางให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงส่วนต่อขยาย

124252511 3398910900185927 269352446285798603 o

  • วุ่นไม่เลิก! ส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เปิดให้บริการครบ แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา

รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้เปิดวิ่ง 7 สถานีสุดท้ายอย่างเป็นทางการไปแล้วพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีทองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 แต่เรื่องวุ่นๆ ของรถไฟฟ้าสายนี้ยังไม่จบลง เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดวิ่งรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ยังไม่ลงนามสัญญาสัมปทานและจ่ายค่าเดินรถให้กับเอกชน

โดยการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ เครือบีทีเอส (BTS) ออกไปอีก 30 ปีแบบไม่เปิดประมูล เพื่อแลกกับการตรึงค่ารถไฟฟ้า 65 บาทต่อเที่ยว ถูกตั้งคำถามอย่างหนักและถูกปัดออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

แต่ขณะเดียวกัน กทม. ก็ค้างค่าจ้าง BTS ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นับตั้งแต่ปี 2561 คิดเป็นวงเงินกว่า 8 พันล้านบาท พร้อมระบุอย่างชัดเจนว่า กทม. ไม่มีเงินจ่ายและอาจจะต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล

ประเด็นที่เกิดขึ้นถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องการเมืองและการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในทางตรง เพราะในระหว่างนี้ กทม. ก็จะเปิดให้บริการฟรีไปก่อน ซึ่งต้องจับตาว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะหาทางลงได้อย่างไรและรัฐบาลจะต้องมารับภาระหนี้แทนท้องถิ่นหรือไม่

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2563

  • “BTS” ฟ้องศาล! ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เปลี่ยนวิธีให้คะแนนกลางอากาศ

การประมูลสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ฝั่งตะวันตก)” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทนับเป็นศึกใหญ่ของ 2 กลุ่มทุนด้านรถไฟฟ้าในประเทศไทย คือ เครือ BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

แต่การประมูลก็ร้อนแรงยิ่งไปอีก เมื่ออยู่ๆ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (PPP) ได้ลงมติเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนกลางอากาศ หลังจากเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน (RFP) เรียบร้อยแล้ว

โดยมีการเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนน จากเดิมตัดสินแพ้ชนะด้วยข้อเสนอด้านผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นเกณฑ์การให้คะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70%

งานนี้ BTS ไม่ Happy อย่างหนัก ยื่นขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครอง ซึ่งทำให้การเปิดซองข้อเสนอของโครงการต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว

apm สุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า

  • 2563 ประเดิมศักราชใหม่ เทคโนโลยี “APM” เข้ามาในประเทศไทย

ในปี 2563 ได้มีการนำเทคโนโลยีระบบรางแบบใหม่ คือ รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) หรือเรียกง่ายๆ ว่า รถไฟฟ้าไร้คนขับ เข้ามาใช้ในประเทศไทยได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองและรถไฟฟ้าภายในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2

โดยระบบ APM ที่คนไทยได้ใช้จริงเป็นครั้งแรก คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้รถรุ่น Bombardier Innovia APM 300 ผลิตจากเมืองอู่หู มณฑลอานฮุย ประเทศจีน

ส่วนโครงการ APM ในสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 นำขบวนรถเข้ามาแล้ว แต่การเปิดให้บริการล่าช้ากว่าแผน เพราะปัญหาโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ประกอบกับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก โดย APM ของสนามบินสุวรรณภูมิใช้ระบบรถไฟฟ้าบริษัท ซีเมนส์ รุ่น cityval and airval โรงงานผลิตอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

573065 e1602766559219

  • ป่วนไปหมด! รถไฟฟ้าโดนสั่งปิด สกัดม็อบชุมนุม 2563

ครึ่งหลังของปี 2563 ประเทศไทย ม็อบทางการเมืองกลับลงท้องถนนอีกครั้ง โดยมีการชุมนุมถี่ในจุดสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

ในช่วงแรก รัฐบาลโดยกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ได้ออกคำสั่งปิดรถไฟฟ้าบริเวณที่มีการชุมนุม หรือบางครั้งตลอดเส้นทางเพื่อสกัดกั้นม็อบ แต่คำสั่งดังกล่าวได้สร้างกระแสตีกลับมายังรัฐบาลและผู้ให้บริการรถไฟฟ้า

โดยโฆษก กอร.ฉ. ให้สัมภาษณ์ว่า การปิดรถไฟฟ้าเป็นความสมัครใจของเจ้าหน้าที่และผู้ให้บริการ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชนและทรัพย์สิน

แต่ BTS ก็เลือกตอบโต้ด้วยการกางคำสั่ง กอร.ฉ. ทั้งหมด 6 ฉบับ พร้อมระบุว่า บริษัทเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่ทุกครั้งก่อนที่จะมีการปิดให้บริการรถไฟฟ้า จะมีการประชุมหารือร่วมกับตำรวจทุกครั้ง และได้มีการชี้แจงให้ทราบผลกระทบที่จะตามมา แต่ทางตำรวจเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก บริษัทก็ต้องปฏิบัติตาม

S 8823007 e1588768736702

  • พิษโควิด-19 กระทบผู้โดยสาร “ระบบราง” เพิ่มมาตรการคุมเข้มไวรัส

แม้จะไม่เจ็บหนักเท่าสายการบิน แต่ระบบรางในภาพรวมก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กันถ้วนหน้า

โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ การดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการส่งเสริมการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ซึ่งทั้งหมดทำให้การเดินทางในภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ระบบขนส่งมวลชนยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้คนประหยัดเงินมากขึ้น และบางส่วนเลือกการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวแทนขนส่งสาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19

ช่วงไตรมาส 2 การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนผ่านรายงานของ BEM และ BTS ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต่างจากจำนวนผู้โดยสารรถไฟทางระหว่างจังหวัดของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงกื

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการก็ต้องปรับตัวให้เป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) เพื่อรับมือกับการอยู่ร่วมกับโรคระบาด เช่น กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิร่างกาย เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดต่างๆ จำกัดจำนวนผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น

รถไฟไทย จีน ลงนามสัญญา

  • ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน’ ลงนามก่อสร้างล็อตใหญ่ เซ็นสัญญาจัดหาขบวนรถ

หลังจากค้างเติ่งมานาน ในที่สุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็ได้ฤกษ์เดินหน้าอีกครั้ง เมื่อเส้นทางช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมาผ่านความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฯ  จึงได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมา 5 สัญญาที่ชนะการประมูล คิดเป็นระยะทางก่อสร้างรวม 101 กิโลเมตร เม็ดเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท

การลงนามสัญญาดังกล่าว นับเป็นการขับเคลื่อนโครงการครั้งใหญ่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟไทย-จีน ยังเหลือสัญญาก่อสร้างที่ยังไม่ลงนามอีก 7 ฉบับและได้เลื่อนกำหนดเปิดให้บริการออกไปเป็นปี 2568 เป็นอย่างน้อย

ในปีนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งหมุดหมาย คือ การลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟฯ, บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ในสัญญา 2.3 จ้างฝ่ายจีนให้ดำเนินการงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

73096545 3026018197413031 3269285125250088960 o

  • ยอมรับความจริง “รถไฟฟ้าสายสีแดง” แล้วเสร็จไม่ทัน ต้องเลื่อนกำหนดเปิด

มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีแดงยังไม่จบ เมื่อกำหนดเปิดให้บริการแก่ประชาชนต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะรับปากไว้ดิบดีว่า จะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2564 อย่างแน่นอน

โดยล่าสุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชัน ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% คงเหลือแต่งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสัญญา 3 ที่มีความก้าวหน้าราว 90%

กระทรวงคมนาคมจึงต้องประกาศไทม์ไลน์ใหม่ คือจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเดือนพฤศจิกายน 2564

โดยกระทรวงคมนาคมเปลี่ยนนโยบาย จะให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มาบริหารการเดินรถเพียงชั่วคราว จนกว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนข้าร่วมทุนสำเร็จ

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

  • ชุบชีวิตความล้มเหลว “รถไฟฟ้าลาวาลิน” เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า

สะพานเก่าๆ ตรงกลางสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นซากสะพานจากโครงการลาวาลิน โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพยุคแรก ตั้งแต่ปี 2522 ที่เริ่มศึกษาเส้นทาง จนนำมาสู่การเซ็นสัญญากับ บริษัท ลาวาลิน ในปี 2533 และเริ่มก่อสร้างได้เพียง 2 ปี บริษัท ลาวาลิน กลับประสบปัญหาด้านการเงิน จนทิ้งร้างโครงการ เหลือเพียงซากสะพานไว้ให้ดูต่างหน้า

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และ กทม.  ได้ปัดฝุ่นปรับโฉมซากสะพานแห่งนี้ ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า แลนด์มารก์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อว่า “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Sky Park)

จุดเด่นของสวนสาธารณะแห่งนี้คือ การเชื่อมโยงฝั่งพระนครและฝั่นธนบุรี รวมถึงการเปิดให้ชมความงดงามของวิวทิวทัศน์โดยรอบของแม่น้ำเจ้าพระยาได้แบบ 360 องศา มองเห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้าและวัดอรุณ โดยเปิดให้ประชาชนใช้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo