Business

‘Remote Working’ วิถีทำงานยุคใหม่ สู้ความผันผวนท่ามกลางโควิด-19

Remote Working การทำงานระยะไกล เครื่องมือใหม่องค์กร ตอบรับการทำงานวิถีใหม่ เอบีม แนะองค์กรรีบเปลี่ยนผ่าน ด้าน LARK แนะเคล็ดลับบริหารทีม เมื่อต้องทำงานทางไกล

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการทำงานวิถีใหม่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่าง ลดการแพร่เชื้อของโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรธุรกิจ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ไปสู่ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) และการทำงานทางไกล (Remote Working) มากขึ้น เพื่อใหองค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้ ในยุคโควิด-19

Remote Working

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตระหนักรู้ว่า บริษัทต่าง ๆ ควรหันกลับมาทบทวนรูปแบบการทำงาน เน้นปรับกระบวนการ และวิธีการทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายในองค์กรของตน เพื่อให้มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ และมีประสิทธิผลในทุกสถานการณ์

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ 3 ประการในการบรรลุการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ได้แก่ 1. การพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกล 2. การใช้ประโยชน์จากกระบวนการทำงานอัตโนมัติ และ 3. การใช้ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มั่นคงและโครงสร้างพื้นฐานระยะไกลที่แข็งแกร่ง

วัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกล เริ่มต้นจากจุดยืนของบริษัท ที่กำหนดนโยบายการทำงานจากระยะไกล ว่าควรจะเป็นมาตรการชั่วคราวหรือถาวร การทำงานจากระยะไกล เป็นทักษะที่ต้องใส่ใจเรียนรู้ และกล้าที่จะลงทุน การประกาศมาตรการชั่วคราวทำให้พนักงานไม่พบแรงจูงใจในการปรับทัศนคติในการทำงานดังกล่าว ทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง

Ichiro Hara
อิชิโร ฮาระ

ในทางกลับกัน บริษัทที่มีแผนระยะยาว ที่สนับสนุนให้ทำงานจากทางไกล เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานประจำวัน โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ของโควิด-19 จะได้รับแรงจูงใจ และความมั่นคงทางจิตใจในแง่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานได้โดยตรง

จากการสำรวจของ ABeam พบว่า นโยบายการทำงานระยะไกลแบบถาวร จะช่วยเพิ่มอารมณ์ในการทำงานของพนักงาน โดย 50% ของพนักงานจะรู้สึกว่า ทำงานได้มีประสิทธิผลมากกว่าเดิม อีก 32% รู้สึกว่ามีประสิทธิผลในระดับเดียวกัน และมีเพียง 18% เท่านั้นที่รู้สึกว่าการทำงานมีประสิทธิผลน้อยลง ขณะที่ด้านสุขภาพของพนักงาน จากเดิมมีเพียง 50% ที่กินอิ่มนอนหลับ แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 78% และ 80% ตามลำดับ

สำหรับรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับพนักงานนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้คือ ตามความต้องการของผู้ตอบคำถามในระหว่างการสำรวจ ในแง่ของผลิตผลที่ดีที่สุด คือทำงานทางไกล 2 ถึง 3 วัน และส่วนที่เหลือให้ทำในสำนักงาน ซึ่งสามารถใช้โควตาตามต้องการ (Floating quotas) โดยมีกระบวนการและระบบที่เหมาะสมรองรับ

รูปแบบการทำงานแบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือที่ช่วยรังสรรค์วัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกลให้แข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้น บริษัทที่ประสบผลสำเร็จและมีผลิตภาพสูง ต่างได้ขับเคลื่อนเข้าสู่ดิจิทัล โดยสร้างจากประสบการณ์ที่ได้รวบรวมช่วงล็อกดาวน์ และมองหาจุดที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุง และมุ่งสู่วิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่ม ลดปริมาณงาน และการทำงานซ้ำซ้อนลง แต่ละขั้นตอนอาจลดเวลาต่อการทำธุรกรรมได้เพียงไม่กี่นาที แต่การเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรมเล็ก ๆ แต่หลาย ๆ ประเภท จะช่วยสะสมการลดทอนเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแสดง สัญญาณที่ชัดเจน ของผลตอบแทนจากการลงทุน

COVDs volatility 1 2
Shot of two colleagues video chatting with each other on a computer at work

ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคระบาด จะส่งผลต่อเนื่องอีกนานถึงปี 2564 ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ องค์กรธุรกิจควรจะประเมินการณ์ใหม่ ในการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะทำงานจากระยะไกล และนำมาใช้เช่นเดียวกับบริษัทอีกจำนวนมาก ที่มีรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิผลในการทำงาน ควบคู่กับความยืดหยุ่นที่ขานรับกับความไม่แน่นอนใด ๆ ในอนาคต เพื่อรองรับการทำงานที่ต่อเนื่องของธุรกิจ

ด้าน LARK ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมรองรับทำงานร่วมกันผ่านระบบดิจิทัล เพื่าอให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มองว่า การทำงานทางไกลนั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ก่อนหน้า อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น การทำงานทางไกลจึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นมาตรการสำคัญ

หากยังอยู่ในภาวะปกติวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กรจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ด้วย COVID-19 ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) การทำงานทางไกล จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด และยังสามารถตอบโจทย์ธุรกิจ ไม่ให้เกิดการชะงักได้

นั่นแสดงว่า COVID-19 คือ ตัวเร่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดเร็วขึ้น รวมถึงเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในด้านวิถีการทำงานขององค์กรธุรกิจ และยังมีอีก 3 เหตุผลที่ตอกย้ำให้เชื่อได้ว่า การทำงานทางไกลจะถูกผสานเข้าเป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรยุคใหม่

COVIDs volatility 3
AI (Artificial Intelligence) concept. Communication network.

เหตุผลข้อแรก

วิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นมิลเลนเนียล (millennials) นั้น แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน ชาวมิลเลนเนียล คือ ผู้ที่เกิดในระหว่างปี 2523 – 2543 ปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังเติบโตและกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในองค์กรธุรกิจ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบริษัท และพวกเขานี่เองที่จะเป็นกลุ่มผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงาน

จากผลศึกษาของมหาวิทยาลัย Bentley พบว่า 77% ของคนยุคมิลเลนเนียล มีความคิดว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นจะทำให้งานของพวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งองค์กรโดยทั่วไป จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน หากมีพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 ต้องการความเปลี่ยนแปลงนั้น

เมื่อนำมาประกอบกับแนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ปรารถนาจะเดินทาง และสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจได้ดีว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้ จึงต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งเป็นความยืดหยุ่น ทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่

นั่นทำให้คนทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบัน บอกได้ชัดเจนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการในเวลานี้ ก็คือ ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

เหตุผลข้อที่สอง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิต และการทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด ไม่ว่าจะด้วยระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงจากการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานบริการ ไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้

เห็นได้จากการเติบโตทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่เก็บไว้ในกระเป๋าอย่างโทรศัพท์มือถือ สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ภายในเสี้ยววินาที และทำให้ตระหนักดีอีกว่า อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นและเสถียรขึ้น ได้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลก แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสุดก็ตาม

เหตุผลข้อสุดท้าย

โลกไร้พรมแดน ซึ่งเราได้เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันบนโลกใบนี้ และในความเป็นจริง เรายังพบด้วยว่า บริษัทระดับโลก ได้ใช้ระบบการทำงานทางไกลกันมาหลายทศวรรษแล้ว เพราะบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มักจะมีทีมงานกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น บริษัทในสิงคโปร์ หากมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ค ก็จะเน้นใช้การทำงานทางไกลเป็นหลัก เป็นต้น

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตอันใกล้ การทำงานทางไกลจะไม่ใช่เพียงมาตรการชั่วคราว ที่หลาย ๆ องค์กรธุรกิจนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ COVID-19 เท่านั้น แต่กำลังจะกลายเป็น วัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo