Business

3 ตลาดใหญ่ ‘ตลาดไท-สี่มุมเมือง-ยิ่งเจริญ’ ห้ามขายอาหารทะเลสมุทรสาคร หนีโควิด

ตลาดไท-สี่มุมเมือง-ยิ่งเจริญ ห้ามร้านค้าจำหน่ายอาหารทะเลจากสมุทรสาคร ป้องกันโควิด-19 ระบาด ตลาดไท ขายอาหารทะเลจากระนองแทน

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดจำหน่ายอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลให้เกิดความตื่นกลัวไปทั่วหัวระแหง โดยเฉพาะแหล่งจำหน่ายอาหารทะเล เนื่องจาก สมุทรสาคร เป็นแหล่งขายส่งอาหารทะเลขนาดใหญ่ โดยล่าสุด 3 ตลาดใหญ่ในกรุงเทพ อย่าง ตลาดไท-สี่มุมเมือง-ยิ่งเจริญ ด้ประกาศห้ามร้านค้าจำหน่ายอาหารทะเล จากจังหวัดสมุทรสาครแล้ว

cover ห้ามขายอาหารทะเล 0

สี่มุมเมือง งดจำหน่ายอาหารทะเลในตลาด

นางสาวปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า ตลาดได้ขอความร่วมมือ ผู้ค้าอาหารทะเล จำนวน 7 ราย 24 แผงค้า ระหว่างนี้ ขอให้งดนำสินค้าอาหารทะเล เข้ามาจำหน่วยภายในตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งตลาดได้ชี้แจงผู้ค้า ถึงแนวทางปฏิบัติแล้ว และทุกร้านให้ความร่วมมือด้วยดี

ในเบื้องต้น ได้ช่วยเหลือในเรื่องของค่าเช่าแผงในเดือนธันวาคมนี้ โดยไม่คิดค่าเช่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายทางตลาดจะให้นำอาหารทะเลกลับเข้ามาใหม่ได้ปกติ

ปัจจุบัน ตลาดสี่มุมเมือง มีแผงค้าผักและผลไม้มากกว่า 4,000 แผง โดยมีแผงอาหารทะเลเพียง 24 แผง แต่ทางตลาดจะต้องยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 โดยมีการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ให้ทุกคนที่เข้ามาในตลาดใส่หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่างๆ รอบตลาด และมีการเช็คเข้าออกด้วยแอพไทยชนะ

สี่มุมเมือง1

นอกจากนี้ ยังได้ประสานการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานจังหวัดปทุมธานี และสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้แนะนำให้มีโซนส่งสินค้า โดยไม่มีการสัมผัสกัน ระหว่างผู้ส่งสินค้าและพ่อค้าแม่ค้าในตลาด มีการทำความสะอาดภายในตลาดบ่อยครั้ง การเช็ดลูกบิดห้องน้ำทุกชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มมาตรการเรื่องแรงงาน โดยการงดการลางานออกนอกพื้นที่ และไม่ให้แรงงานจากภายนอก หรือแรงงานหน้าใหม่ เข้ามาภายในตลาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมีการตรวจที่พักอาศัยของแรงงาน

ด้านนายอภิวัฒน์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารพื้นที่ ตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า หลังจากมีข่าวการแพร่ระบาดเชื้อโควิดจากตลาดค้าส่งที่จังหวัดสมุทรสาคร ทางตลาดสี่มุมเมืองจึงต้องเข้มงวดและได้สำรวจว่ามีผู้ประกอบการแผงค้าไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับตลาดค้าส่งที่จังหวัดสมุทรสาคร พบมีพ่อค้าและแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 29 ราย ทางตลาดได้ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีตรวจคัดกรอง อยู่ระหว่างรอผล

สี่มุมเมือง

ล่าสุด ตลาดสี่มุมเมือง ได้ชี้แจง กรณีงดขายอาหารทะเลและกุ้ง เพิ่มเติม ดังนี้

1. เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์เรื่องโควิด-19 มีแนวโน้มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตลาดฯ มีความเป็นห่วงแหล่งที่มาของสินค้า โดยเฉพาะการสัมผัสระหว่าง ผู้ส่งสินค้าที่มาจากพื้นที่เสี่ยงกับคนในแผงค้าอาหารทะเล และมาตการนี้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบ

2. กรณีขอความร่วมมือจากผู้ค้าให้งดจำหน่ายอาหารทะเลและกุ้ง เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น แต่ทางตลาดฯ มิได้นิ่งนอนใจ จึงมีมาตรการเยียวยา โดยการไม่คิดค่าเช่าแผงค้าเดือนธันวาคม 2563 ( 31 วัน)

3. แผงค้าอาหารทะเลส่วนใหญ่ มีขายทั้งอาหารทะเลและประมงน้ำจืด ดังนั้น แผงค้ายังสามารถขายสินค้าประมงน้ำจืดได้เหมือนเดิม

4. สำหรับแรงงานต่างด้าว ตลาดฯ มีมาตการคุมเข้มตามระเบียบของสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

ตลาดไท เข้ม ผู้ค้า ฝ่าฝืนยกเลิกสัญญาเช่าทันที

เช่นเดียวกัน ตลาดไท ที่ออกประกาศ เรื่องการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยระบุว่า

ตลาดไท1

 

1. ห้ามนำสินค้าประเภทอาหารทะเล และตากแห้ง รวมทั้งปลาน้ำจืด เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร (ประกาศเดิม) สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ (ประกาศใหม่) เข้ามาจำหน่ายโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนยกเลิกสัญญาเช่าแผงค้าทันที

ทั้งนี้ ตลาดอาหารทะเลสดและตากแห้ง อาหารแช่แข็ง และตลาดปลาน้ำจืดของตลาดไท ยังเปิดจำหน่ายเป็นปกติทุกวัน

2. ห้ามรับคนงานต่างด้าวที่ผิดกฏหมาย และไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน หรือแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากแหล่งอื่น หรือเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ ฝ่าฝืนยกเลิกสัญญาเช่าแผงค้าทันที

3. ห้ามผู้ค้าให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับการป้องกัน สถานการณ์ระบาดดังกล่าว ฝ่าฝืนยกเลิกสัญญาเช่าแผงค้าทันที

4. ผู้ค้าและแรงงานแผงค้า ต้องใส่หน้ากากอนามัย และใส่อย่างถูกวิธี ขณะอยู่ในบริเวณตลาดไท ฝ่าฝืนพักการค้า 14 วันทันที

5. ผู้ค้าและแรงงานแผงค้า ต้องใส่ถุงมือยาง เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอาหารโดยตรง ฝ่าฝืนพักการค้า 14 วันทันที

ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2563 และถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ตลาดไทแจ้งว่า ยังคงมีร้านค้าในตลาด จำหน่ายอาหารทะเล แต่เป็นอาหารทะเลที่มาจากภาคใต้ เช่น ระนอง เป็นต้น

อริย ธรรมวัฒนะ 1

ยิ่งเจริญ ไล่ตรวจคัดกรอง เว้นค่าเช่า สูญเดือนละล้าน

ขณะที่ ตลาดยิ่งเจริญ ก็ออกมาตรการเข้มป้องกันโควิด โดยปิดโซนสินค้าอาหารทะเล 14 วัน สำหรับผู้ค้าสินค้าอาหารทะเล เร่งตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งยกเว้นค่าเช่าผู้ค้าในช่วงที่หยุดจำหน่ายและกักตัวแรงงานต่างด้าว จำนวน 14 วัน

นายอริย ธรรมวัฒนะ กรรมการบริหารตลาดยิ่งเจริญ ในฐานะประธานคณะทำงานสถานการณ์ COVID-19 ตลาดยิ่งเจริญ กล่าวว่า จากสถานการ์ณการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศไทย ตลาดยิ่งเจริญ เป็นศูนย์กลางแหล่งจำหน่ายอาหารสดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้นิ่งนอนใจ และตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ค้าและผู้ซื้อที่มาจับจ่ายใช้สอย มีความยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาลเเละปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ

ทั้งนี้ ตลาดยิ่งเจริญ ได้ออกมาตรการหลัก จำเป็นต้องให้กลุ่มสินค้าทะเลหยุดขาย / ปิดโซน 14 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้ลุกลามไปกลุ่มอื่น เพื่อรักษาส่วนรวม และกักตัวแรงงานต่างด้าว จำนวน 14 วัน โดย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของผู้ค้าสินค้าทะเล ตลาดยิ่งเจริญ พร้อมให้ความร่วมมือกับสังคม ด้วยการตรวจหาเชื้อ และพักการจำหน่ายอาหารทะเล 14 วัน โดยทางตลาดยิ่งเจริญไม่เก็บค่าเช่าผู้ค้าในช่วงที่หยุดจำหน่าย

อาหารทะเล 1

นอกจากนี้ตลาดยิ่งเจริญยังออกมาตรการ  ดังนี้

1. กำหนด ช่วงเวลาสำหรับรถส่งสินค้าแต่ละประเภท ที่เข้ามายังตลาด

2. จัดพื้นที่สำหรับรถส่งสินค้าที่เข้ามายังตลาด

3. เจ้าหน้าที่ของตลาด จะต้องทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ตัวรถส่งสินค้า และ สินค้าภายในรถก่อนที่จะขนสินค้าลงจากรถได้

สำหรับกลุ่มเสี่ยงภายในตลาด จะเป็นกลุ่มผู้ค้าสินค้าทะเลจำนวน 30 แผงค้า ได้เข้าไปรับอาหารทะเลจากจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการตรวจเชื้อโควิด 19 ให้กับแผงค้าสินค้าทะเล จำนวน 30 แผง ดังกล่าว

หากพบว่า ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติ ทางตลาดขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมาย“ไม่อนุญาตให้เข้าตลาดเด็ดขาด” และ “ไม่อนุญาตให้เปิดแผง” เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาจับจ่าย และซื้อสินค้าที่ตลาดยิ่งเจริญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือ ผู้ค้าและบุคลากร สวมหน้ากาก และถุงมืออนามัย ทุกคน ทุกวัน โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

“จากการไม่เก็บค่าเช่าผู้ค้าในช่วงที่หยุดจำหน่าย ปัจจุบันตลาดได้ค่าเช่า กลุ่มนี้ประมาณเดือนละ 1.1 ล้าน หยุดไป 14 วัน สูญรายได้ไป 5.5 แสน โดยประมาณ แต่เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมของตลาด แม่ค้าส่วนใหญ่ อีก 920 ราย ต้องอยู่ได้ ขณะที่รายได้ที่แม่ค้าสูญเสียไปในแต่ละวันอีกจำนวนมากกว่า”นายอริย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo