Business

ลดเงินสมทบ ‘ประกันสังคม’ รอบใหม่ ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องสูงสุด 900 บาท

เดือน ม.ค.-มี.ค. 64 ลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” รอบใหม่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 460- 900 บาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค. 63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ตามที่ กระทรวงแรงงาน เสนอ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม

ลดเงินสมทบ ประกันสังคม

ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพื่อ ลดเงินสมทบเข้า ประกันสังคม ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 โดยกำหนดให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง) ออกเงินสมทบเพื่อเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน ดังนี้

  • กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร

รัฐบาลลดเงินสมทบเหลือ 1.05% จากเดิม 1.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

นายจ้างลดเงินสมทบเหลือ 1.05% จากเดิม 1.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนลดเงินสมทบเหลือ 1.05% จากเดิม 1.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

  • กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ

รัฐบาลลดเงินสมทบเหลือ 1.45% จากเดิม 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

นายจ้างลดเงินสมทบเหลือ 1.85% จากเดิม 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม ลดเงินสมทบเหลือ 1.85% จากเดิม 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

  • กรณีว่างงาน

รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมอยู่ที่ 0.25% ของค่าจ้างผู้ประกันตนตามบัญชี ก.

นายจ้างลดเงินสมแทบเหลือ 0.1% จากเดิม 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดเงินสมทบเหลือ 0.1% จากเดิม 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดภาระให้ผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม และนายจ้างไปได้มาก แนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 8,248 ล้านบาท จากเดิมที่จ่าย 12,634 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลง 7,412 ล้านบาท จากเดิมที่จ่าย 11,118 ล้านบาท

การลดอัตราเงินสมทบครั้งนี้ ส่งผลดีให้ผู้ประกันตนนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสภาคล่องได้ราว 460-900 บาทต่อคน นายจ้างมีสภาพคล่องมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะส่งผลให้เงินออมบำนาญของผู้ประกันตนลดลงประมาณ 1,035 บาทและอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนประกันสังคม แต่กองทุนฯ และรัฐบาลจะวางแผนระยะยาวต่อไป

shutterstock 1786433714

ก่อนหน้านี้ นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานและประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางการลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้าง) ให้เหลือฝ่ายละ 1% เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ขอให้มาตรการ ลดเงินสมทบ ประกันสังคม รอบใหม่นี้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 มีนาคม 2564 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและกระตุ้นการใช้จ่าย เพราะแม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดี แต่ก็ยังดีขึ้นไม่มาก นายจ้างหลายแห่งยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบ ประกันสังคม มีผู้ตกงานรวม 7.9 แสนคน แต่แนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ระดับ 2.5 ล้านคนในอนาคต เนื่องจากผู้ที่หยุดงานชั่วคราวในเวลานี้ อาจกลายเป็นผู้ว่างงานหรือไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรหามาตรการช่วยเหลือและลดภาระให้นายจ้าง เพราะหากนายจ้างไม่สามารถอยู่รอดได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถจ้างงานได้อยู่ดี

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า สภาองค์การนายจ้างฯ ได้เสนอกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาขยายมาตรการลดหย่อยเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 2% ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2563 ก็ขอให้ขยายไป 6 เดือนระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดรายจ่ายของนายจ้าง

ทั้งนี้ ถ้ากระทรวงแรงงานให้กลับไปจ่ายเงินสมทบกองทุน ประกันสังคม เต็ม 5% เหมือนเดิม ก็จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่สภาพคล่องไม่ดีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจเปราะบางและสุดท้ายอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo