Business

เดินหน้าแก้ ‘กฎหมายแท็กซี่’ รถบ้านอายุไม่เกิน 9 ปี จดทะเบียนเป็น ‘แกร็บ’ ได้

เดินหน้าแก้ “กฎหมายแท็กซี่” รถบ้านอายุไม่เกิน 9 ปี จดทะเบียนเป็น “แกร็บ” รับจ้างผ่านแอพฯ ได้ แต่ผู้ขับรถเดิมยังต่อต้าน ชี้หลักเกณฑ์ไม่เป็นธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. โดยมีส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้ประกอบการรถ แท็กซี่ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้าง ผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือก และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น

กฎหมายแท็กซี่ แกร็บ

นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ได้ชี้แจงเหตุผลที่ยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้ที่ประชุมทราบว่า เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและเทคโนโลยี ประชาชนจำนวนมากนิยมเรียกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วนไม่สามารถจดทะเบียนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และทางราชการสามารถควบคุมติดตามตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร จึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

สาระสำคัญคือ กำหนดให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียน เปลี่ยนประเภทเป็นรถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (แท็กซี่) แบบบริการทางลือก โดยการรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น โดยให้มีการจดทะเบียนรถได้ 1 คนต่อ 1 คัน กำหนดลักษณะรถและประเภทตามขนาดกำลังของรถ คือ  ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และรถอเนกประสงค์

รถต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสารเพื่อรับงานจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นที่ ขบ. ให้การรับรอง กำหนดอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ต้องแสดงเครื่องหมายการเป็นรถยนต์รับจ้างตามแบบที่อธิบดี ขบ. กำหนด ค่าจ้างและค่าบริการอื่นให้เป็นไปตามที่ตกลงกัน โดยผู้รับจ้างต้องแสดงราคาผ่านแอพพลิเคชั่นให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าก่อนตกลงใช้บริการ แอพพลิเคชั่นที่จะนำมาใช้เรียกรถต้องได้รับการรับรองจาก ขบ. และผู้ขับรถต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

แก้กฎหมาย แกร็บ

ยังเห็นต่างแก้ “กฎหมายแท็กซี่” เปิดทาง “แกร็บ”

ในการรับฟังความคิดเห็นนี้ เป็นการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกฝ่าย ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรถ แท็กซี่ เดิมส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมระหว่างรถแท็กซี่เดิมในระบบกับรถแท็กซี่แบบบริการทางเลือก

ส่วนกลุ่มผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจะเห็นด้วย โดยเห็นว่าสอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันและเกิดความสะดวกปลอดภัยกับประชาชน

ส่วนกลุ่มนักวิชาการและผู้แทนส่วนราชการ เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีรถแท็กซี่แบบบริการทางเลือก แต่เห็นว่าควรร่างกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายทั้งกลุ่มรถแท็กซี่เดิมและรถแท็กซี่แบบบริการทางเลือก รวมทั้งควรกำหนดคุณสมบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบ และบทกำหนดโทษผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมครบถ้วนและชัดเจน เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกับผู้ขับรถและประชาชนผู้ใช้บริการ

ขบ. จะรวบรวมทุกความเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านี้ เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว  ให้มีความเหมาะสม และสรุปนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo