Business

ก่อสร้างต้องรู้! แก้ไข กฎหมายควบคุมอาคาร เน้นลดฝุ่นละออง PM 2.5

กฎหมายควบคุมอาคาร ฉบับปรับปรุง มท.3 เน้นแก้ไข ควบคุมการก่อสร้าง ลดฝุ่นละออง PM 2.5 ของขวัญปีใหม่ 2564 ให้ประชาชน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย (มท.3) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ปัญหา ฝุ่นละออง PM 2.5 นับเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนโดยตรง จึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายควบคุมอาคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหา ฝุ่นละออง PM 2.5 จากการก่อสร้าง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้ประชาชน

กฎหมายควบคุมอาคาร

ทั้งนี้ ได้มีนโยบายให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดูแล การออกข้อกำหนด และปรับปรุงแก้ไข กฎหมายควบคุมอาคาร ดำเนินการทบทวนปรับปรุง แก้ไข กฎหมายให้ทันต่อสภาพการณ์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดี

สำหรับ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว อย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 96 ก กฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อง มาตรการป้องกัน การฟุ้งกระจาย ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคาร โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ทรงศักดิ์ ทองศรี

1. ลักษณะงานก่อสร้าง ที่ต้องจัดให้มีมาตรการ ป้องกัน ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้แก่

1.1 งานก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัด จากแนวอาคารด้านนอก ถึงที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของความสูงของอาคารนั้น

1.2 งานก่อสร้างอาคาร ซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

2. มาตรการป้องกัน ฝุ่นละออง ที่ต้องจัดให้มีระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่

2.1 การกั้นล้อมอาคาร ด้วยวัสดุ หรืออุปกรณ์ ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้

2.2 การปิด หรือคลุมกองวัสดุ ที่มีการฟุ้งกระจาย ของฝุ่นละออง

2.3 การขนย้ายวัสดุ ที่ทำให้เกิด ฝุ่นละออง ด้วยสายพาน ต้องปิดให้มิดชิด

2.4 การผสมคอนกรีต การไสไม้ หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่น ต้องทำในพื้นที่ปิดล้อม หรือมีวิธีการป้องกัน การฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

2.5 การทำความสะอาดล้อรถทุกชนิด ก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง

หลังจากที่มีการบังคับใช้ กฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร วิศวกรผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ ฝุ่นละออง ในงานก่อสร้าง มีปริมาณลดลง สถานที่ก่อสร้าง มีความสะอาด

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นระเบียบ เป็นไปตามมาตรฐานงานก่อสร้าง ในระดับสากล และช่วยลดสภาวะมลพิษทางอากาศ จาก ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ มีสุขภาพแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo