Business

‘การบินไทย’ เสนอตัวเป็นสายการบินแรก ขน ‘วัคซีนโควิด-19’ เข้าประเทศ

“การบินไทย” เสนอตัวเป็นสายการบินแรก ขนส่ง “วัคซีนโควิด-19” มาใช้ในประเทศ เผยมีความพร้อมทุกด้าน บุคคลากรมีความชำนาญตามมาตรฐาน WHO

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บริษัทยังคงทำการบินในเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระบวนการขนส่งที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล

การบินไทย วัคซีนโควิด-19

พร้อมกันนี้ การบินไทย ยังมีศักยภาพในการขนส่งยารักษาโรค วัคซีน รวมทั้งเวชภัณฑ์ต่างๆ จึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการขนส่ง วัคซีนโควิด-19 ในเที่ยวบินทั้งขาออกและขาเข้าสู่ประเทศไทยเป็นสายการบินแรก โดยการบินไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ

1.ด้านบุคลากร มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการขนส่งและดูแลผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าประเภทที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า เช่น วัคซีน เวชภัณฑ์ รวมทั้ง อาหารแช่แข็งต่างๆ เป็นอย่างดี และได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้ามาโดยตลอด

นอกจากนี้ บุคลากรของฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Distribution Practice (GDP) ตามมาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยบริษัท SGS (Thailand) เป็นผู้ทำการตรวจสอบและรับรอง

2.ด้านอากาศยาน มีเครื่องบินลำตัวกว้าง ทั้งพิสัยกลางและพิสัยไกล จึงสามารถขนส่งวัคซีนด้วยตู้คอนเทนเนอร์ชนิดปรับควบคุมอุณหภูมิจากยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย เข้าสู่ประเทศไทยได้ รวมทั้งสามารถขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย โดยสามารถนำเครื่องบินที่มีอยู่มาทำการบินได้ทันที

3.ด้านเครือข่ายเส้นทางบินและอุปกรณ์บริการภาคพื้น มีเครือข่ายเส้นทางบินไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ครอบคลุมทวีปเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งมีอุปกรณ์บริการภาคพื้นที่เพียงพอในการสนับสนุนเที่ยวบินขนส่งวัคซีน

shutterstock 1820119484

4.ด้านอุปกรณ์ขนส่ง มีตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ (Temperature Controlled Containers) ที่สามารถขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิได้ถึง -20 ˚C ถึง +20 ˚C โดยบริษัทมีตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิเพียงพอต่อการให้บริการขนส่ง และหากมีปริมาณความต้องการขนส่งเพิ่มเติม บริษัทสามารถจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ

5.ด้านคลังสินค้า มีคลังสินค้าปรับอากาศขนาดใหญ่และอยู่ในเขตปลอดอากร หรือ Free Zone สะดวกในการส่งต่อสินค้าจากระบบการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air logistics) มาเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าภาคพื้นดิน (Ground logistics) ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาที่วัคซีนต้องอยู่ในสภาวะอุณหภูมิสูงระหว่างการส่งต่อลดลง

6.ด้านพันธมิตรขนส่งสินค้าภาคพื้นดิน (Ground logistics) มีเครือข่ายพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) จึงสามารถบริหารจัดการการขนส่งได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless Connection) ซึ่งจะทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความรวดเร็วและลดโอกาสเกิดความเสียหายของวัคซีนในระหว่างขนส่งได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การบินไทยไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการขนส่งวัคซีนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ประชาชน และเพื่อความมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุข อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และภาคสังคมโดยรวม

ลงนาม2

คาดไทยได้ “วัคซีนโควิด-19” ปีหน้า

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนาม สัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท AstraZeneca จำกัด และสถาบันวัคซีนแห่งชาติของไทย โดยคาดว่าคนไทยจะได้รับ วัคซีนโควิด-19 ในปี 2564

ในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญ ในการลงนามร่วมกันระหว่างประเทศผู้ค้นคว้าวิจัย และผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเราได้ทำสัญญาเรื่องการจองซื้อ ก็มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ซึ่งเราก็ติดตามการพัฒนาทุกประเทศ แต่ในกลุ่มนี้มีความก้าวหน้าในระดับที่สูง และสูงมากด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นมีแนวโน้มว่าจะผลิตได้ในต้นปีหน้านี้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องเตรียมความพร้อมในประเทศของเรา คือการนำสู่เรื่องการบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ อะไรก็แล้วแต่ วัคซีนต้องมีการขนย้ายและการเก็บรักษา ซึ่งก็มีบริษัทที่ลงนามร่วม มีพยานมาวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซน์ฯ ของเราซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย เป็นพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เราจะต้องมีบริษัทหรือหน่วยงานที่จะต้องผลิตยาและวัคซีนให้คนไทยให้เกิดความทั่วถึงในประเทศ ซึ่งถือเป็นสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 10 ก็ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดตรงนี้มา และทรงพระราชทาน พระราชานุญาตให้บริษัทสยามไบโอไซน์ฯ เป็นผู้ที่จะทำการผลิตต่อ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาด้วย

“คงไม่ใช่แค่ตรงนี้ เพราะวันหน้าเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นมาอีก แต่อันนี้ถือเป็นความพร้อมของเราแล้ว ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของวัคซีน ก็ขอให้คนไทยทุกคนได้ช่วยกันตั้งจิตให้ทุกอย่างสำเร็จด้วยดี” นายกรัฐมนตรี กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo