Business

เปิดรายละเอียดธนบัตรชุดแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10

เปิดรายละเอียดธนบัตรชุดแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำออกใช้ในวันจักรีวันที่ 6 เมษายน 2561 จำนวน 3 ชนิด และในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 อีก 2 ชนิดราคา

ธนบัตร ธปท.1

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชวินิจฉัยกำหนดวันอันเป็นมงคลยิ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำธนบัตรชนิดราคา 20 บาท, 50 บาท และ 100 บาท ออกใช้ในวันจักรี วันที่ 6 เมษายน 2561 อีก 2 ชนิดราคา คือ 500 บาท และ 1000 บาท มีพระราชวินิจฉัยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2561

ธนบัตรแบบ 17 นี้ ยังคงเน้นความสวยงาม รักษาเอกลักษณ์ไทย เช่นเดียวกับแบบ 16 โดยธนบัตรด้านหน้าของแบบ 17 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา ด้านหลังธนบัตร นำพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 2 พระองค์ มาเป็นภาพประธาน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ มีภาพประกอบพื้นหลังเป็นภาพพระราชกรณียกิจสำคัญที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ จารึกในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย

แบงก์20
รายละเอียดการออกแบบ ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ด้านหน้าพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลัง ภาพประธานเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี คู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีภาพประกอบพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพประกอบที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 2 เป็นภาพจากบทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในด้านวรรณคดี และพระราชกรณียกิจที่ในการทำบำรุงศิลปะ วัฒนธรรมไทยหลายสาขาให้เจริญรุ่งเรือง

แบงก์50

ชนิดราคา 50 บาท ด้านหน้าพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลัง ภาพประธานเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบภาพพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 3 ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เจริญก้าวหน้า และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 4 เป็นภาพหอชัชวาลเวียงชัย พระนครคีรี จ.เพชรบุรี ที่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สะท้อนพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ให้เจริญก้าวหน้าในแบบอารยประเทศ

แบงก์100

ชนิดราคา 100 บาท ด้านหน้าพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลัง ภาพประธานด้านหลังเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพประกอบพื้นหลังเป็นพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป เจริญสัมพันธไมตรีนานาประเทศ ให้ชาติไทยดำรงเอกราชสืบมา และทรงนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง อีกภาพแสดงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 เป็นภาพทรงฝึกกองเสือป่าที่ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สามัคคีขึ้นในหมู่ราษฎร เป็นกองกำลังสำรองป้องกันประเทศ

แบงก์500

ชนิดราคา 500 บาท ด้านหน้าพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลัง เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภาพประกอบแสดงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แก่ปวงชนชาวไทย อีกภาพเป็นพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็ง สร้างความสมานฉันท์ให้คนไทยทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกกลมเกลียว

แบงก์1000

ชนิดราคา 1000 บาท ด้านหน้าพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลังเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพประกอบแสดงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 9 ทรงรับดอกบัวจากราษฎร สะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุทิศพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ บำบัดทุกข์บำรุงสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยตลอดรัชสมัย รวมทั้งพระราชกรณียกิจสมเด็จพระเข้าอยู่หัว ขณะทอดพระเนตรแผนที่ ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎรบริเวณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบรรเทาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก สะท้อนการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงพสกนิกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์จวบจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK