Business

อสังหาฯ ปี 64 ลูกค้ายัง ‘ชะลอซื้อบ้าน’ ท่ามกลาง สงครามราคาเดือด

อสังหาฯ ปี 64 ลูกค้ายังชะลอซื้อบ้าน ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยเป็นปีแห่งการท้าทายอีกปีของผู้ประกอบการ ท่ามกลางสงครามราคายังดุเดือด ต้องเรียลดีมานด์เท่านั้น

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาด อสังหาฯ  ปี 64 ลูกค้ายังชะลอซื้อบ้าน ทำให้ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านนานขึ้น

คุณกมลภัทร DDproperty 01 2 Re
กมลภัทร แสวงกิจ

นอกจากนี้ จากการชะลอตัวของตลาด ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องใช้แคมเปญการตลาด ราคา และโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม ลดต่ำลง แต่เป็นการเร่งการตัดสินใจจากผู้ซื้อ ที่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ หรือผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มีความต้องการซื้อมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์

ส่วนกลุ่มดีมานด์ใหม่ ยังคงชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่ ยังคงไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือน ที่ยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียม ยังคงเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่แนวโน้มโครงการใหม่ เริ่มเป็นสินค้าประเภทแนวราบมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านนานขึ้น ในช่วงล็อกดาวน์ จึงเห็นความสำคัญ ของการมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มากขึ้น

 

10DEC ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ดัชนีราคา

“แนวโน้มของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2564 จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้น ของผู้ประกอบการที่แข่งกันลดราคา รวมไปถึงออกโปรโมชั่นแรง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่วนจำนวนโครงการเปิดใหม่นั้นคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปี 2563”นางกมลภัทร กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่า ปี 2564 ถือเป็นปีปรับสมดุลของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในแง่ของ ราคา และอุปทาน (จำนวนที่อยู่อาศัย)

 

ในส่วนของราคานั้น เริ่มเห็นสัญญาณบวก จากดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2563 และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ นั้นจะขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ ๆ ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง รวมถึงการมีมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ หรือให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

10DEC ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ทำเล

 

ขณะที่ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) กลับมองต่างออกไป โดยคาดการณ์ว่า ตลาด อสังหาริมทรัพย์ ปี 2564 มีแนวโน้มสดใส และจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด 383,272 หน่วย มูลค่า 950,591 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไข มีมาตรการภาครัฐเข้ามากระตุ้น และมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ที่ขยายตัวเป็นบวกทุกไตรมาส สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบ และการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ

ขณะที่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2563 คาดทั้งปีมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 351,640 หน่วย มูลค่า 862,500 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าจำนวน -10.3% และ -7.3% ตามลำดับ

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดในช่วง ไตรมาส2 ปี 2563 และมีการปรับตัวดีขึ้นใน ไตรมาส 3 ปี 2563

วิชัย วิรัตกพันธ์
วิชัย วิรัตกพันธ์

“ช่วงต่ำสุดของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ เดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ คาดการณ์ว่าระยะเวลาที่เหลือของปี 2563 ยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และเห็นชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2564 “ดร.วิชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน คาดการณ์แนวโน้มที่อยู่อาศัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีโครงการเปิดใหม่ราว 88,828 หน่วย มีมูลค่า 400,306 ล้านบาท อัตราการขยายตัวคิดเป็น 24.3% สัดส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่ เป็นบ้านจัดสรร ราว 58% และ เป็นอาคารชุด 42%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo