Business

5 ประเด็นสำคัญ สู่การใช้ ‘Social Innovation’ พลิกธุรกิจ

business innovation money icon 40218

ที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ ขององค์กรขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับเทรนด์ที่ภาคธุรกิจควรให้ความสนใจมากที่สุดในเวลานี้อาจเป็นเรื่องของ “นวัตกรรมทางสังคม” หรือ Social Innovation โดยในมุมของ The World Economic Forum นั้นได้นำเสนอผ่านรายงานเรื่อง Why Social Innovation matters to business ว่า องค์กรที่มีการประยุกต์ใช้ Social Innovation สามารถสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างโอกาสให้กับคนที่มีรายได้ต่ำได้นับพันล้านคนและสามารถดึงคนเหล่านี้ให้เข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การที่องค์กรขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในความเป็นจริง บริษัทจำนวนมากต่างก็มีการพัฒนาเครื่องมือ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสดงตัวตนว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการกำกับดูแลกิจการให้มีธรรมาภิบาล, กิจกรรมการกุศลต่าง ๆ หรือกิจกรรม CSR (corporate social responsibility)

แต่สิ่งที่ทำให้ Social Innovation นั้นแตกต่างจากกลยุทธ์ในอดีตที่องค์กรเคยทำมาก็คือ นอกจากมันจะสามารถสร้างความท้าทายให้กับสังคมในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังนำไปต่อยอดเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยรายงานดังกล่าวได้จำแนกลักษณะเด่นของ Social Innovation ออกมาได้ 3 ประการ ดังนี้

– มีความสอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท
– มีการนำสินทรัพย์ของบริษัท เช่น พนักงาน, เทคโนโลยี, หรือระบบกระจายสินค้าของบริษัทเข้ามาร่วมด้วย
– ได้รับการบริหารจัดการจากภายในองค์กรหรือหน่วยธุรกิจ

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับจากนโยบายด้าน Social Innovation นั้นไม่เพียงอยู่ในรูปผลประกอบการ ทว่ายังรวมถึงความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การเจาะตลาดใหม่ ๆ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ และยังสามารถรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ได้ด้วย โดยเราสามารถจำแนกเหตุผลที่ Social Innovation จำเป็นต่อภาคธุรกิจในปัจจุบันได้ 5 ข้อดังนี้

1. สร้างความมั่นใจในธุรกิจให้กลับคืนมาอีกครั้ง

เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะในปี 2558 มีข้อมูลจาก The 2015 Edelman Trust Barometer ซึ่งเป็นรายงานระดับความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีให้กับธุรกิจว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลให้ผู้บริหารกว่าครึ่ง (55%) ที่มีส่วนร่วมใน the PWC Annual CEO Survey ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลดลงของความเชื่อมั่นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงบวกกับสังคมมีแนวโน้มที่จะได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา และนั่นเท่ากับเป็นใบอนุญาตให้ธุรกิจสามารถประกอบกิจการในสังคมนั้น ๆ ได้ต่อไป

2. เพื่อรับมือกับปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจในปัจจุบันนี้ต้องแบกรับความกดดันจากสังคมให้มีการลงทุนด้านห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืน และสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงจัดการกับเสียงสะท้อนในแง่ลบได้จากภายในองค์กร

บริษัทที่สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์ให้มีการกระจายรายได้ หรือการลงทุนไปยังกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย หรือชุมชนต่าง ๆ ในสังคมได้ จะกลายเป็นองค์กรที่มีแต้มต่อด้านการแข่งขันในระยะยาว

3. เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรเก่ง ๆ เอาไว้

เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตนั้นแตกต่างจากธุรกิจในอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างมาก การเลือกสมัครเข้าทำงานในองค์กรของชาวมิลเลนเนียลก็มีวิธีที่แตกต่างออกไป โดยพวกเขาจะเลือกทำงานกับบริษัทใดนั้นอยู่กับ “วัตถุประสงค์” ของบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งหากบริษัทไม่มีความโดดเด่นมากพอก็จะไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าทำงานได้ อีกทั้งยังอาจไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีศักยภาพเอาไว้ได้ด้วย

4. เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการวัดประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือในปี 2558 ที่ผ่านมา การจัดอันดับซีอีโอของ The 2015 Harvard Business Review ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมลงไปด้วย โดยให้มีส่วนในการพิจารณาคะแนนถึง 20% ซึ่งซีอีโอที่ได้อันดับหนึ่งจากชาร์ตดังกล่าวคือ Lars Rebien Sørensen แห่ง Novo Nordisk และเขาได้กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า “ในระยะยาว ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งที่มีส่วนสำคัญต่อภาคการเงิน”

5. เพื่อขยายโอกาสในการเติบโต

ในจุดนี้ มีรายงานจากธนาคาาโลกระบุว่า การจัดการกับปัญหาความยากจนนั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี คือปัจจุบันมีประชากรโลกไม่ถึง 10% ที่อาศัยอยู่ได้ด้วยรายได้น้อยกว่า 1.9 ดอลล่าร์ต่อวัน หรือประมาณ 59 บาท กระนั้น ความกังวลในข้อต่อมาก็คือปัญหาด้านรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ทั่วโลกต้องการโซลูชันที่สามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้ และสามารถสเกลได้ในวงกว้าง

แน่นอนว่า รัฐบาลและภาคสังคมต่างเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามารับบทบาทนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งธุรกิจที่สามารถนำเสนอโซลูชันดังกล่าวได้ ย่อมหมายถึงโอกาสในการเติบโตระยะยาวของธุรกิจนั้น ๆ และได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย

เรียบเรียงจาก The World Economic Forum

Avatar photo