Business

ส.อ.ท. กระทุ้งขยายลดเงินสมทบ ‘ประกันสังคม’ นายจ้างและลูกจ้างต่อปี 2564

ส.อ.ท. กระทุ้ง “แรงงาน” ขยาย ลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” นายจ้างและลูกจ้างต่อปี 2564 หวั่นธุรกิจอยู่ไม่ไหว คนตกงานเพิ่ม

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานและประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางการลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้าง) ให้เหลือฝ่ายละ 1% เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ขอให้มาตรการ ลดเงินสมทบ ประกันสังคม รอบใหม่นี้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 มีนาคม 2564 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและกระตุ้นการใช้จ่าย เพราะแม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดี แต่ก็ยังดีขึ้นไม่มาก นายจ้างหลายแห่งยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

ประกันสังคม

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบ ประกันสังคม มีผู้ตกงานรวม 7.9 แสนคน แต่แนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ระดับ 2.5 ล้านคนในอนาคต เนื่องจากผู้ที่หยุดงานชั่วคราวในเวลานี้ อาจกลายเป็นผู้ว่างงานหรือไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรหามาตรการช่วยเหลือและลดภาระให้นายจ้าง เพราะหากนายจ้างไม่สามารถอยู่รอดได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถจ้างงานได้อยู่ดี

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า สภาองค์การนายจ้างฯ ได้เสนอกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาขยายมาตรการลดหย่อยเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 2% ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2563 ก็ขอให้ขยายไป 6 เดือนระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดรายจ่ายของนายจ้าง

ทั้งนี้ ถ้ากระทรวงแรงงานให้กลับไปจ่ายเงินสมทบกองทุน ประกันสังคม เต็ม 5% เหมือนเดิม ก็จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่สภาพคล่องไม่ดีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจเปราะบางและสุดท้ายอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้

shutterstock 1659753442

ย้อนรอยลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” 2 เฟสแรก

เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วยการลดเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เฟสที่ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

  • นายจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33

ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 4% หรือ 600 บาทต่อเดือน ส่งผลให้นายจ้างได้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุด 150 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคนต่อเดือน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33

ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 1% หรือสูงสุด 150 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุดสูงสุด 600 บาทต่อเดือน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ผู้เคยเป็นลูกจ้างมาตรา 33 มาก่อน แต่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชนแล้ว)

ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 432 บาทต่อเดือน เหลือ 86 บาทต่อเดือน หรือได้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุด 346 บาทต่อเดือน

shutterstock 1245206278

ต่อมามาตรการลดเงินสมทบ ประกันสังคม เฟสที่ 2 ได้ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนฯ เหลือ 2% เป็นระยะเวลา 3 เริ่มตั้งแต่การจ่ายค่าจ้างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563

  • นายจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33

ปกติส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ให้ลดเหลือ 2% ของค่าจ้างผู้ประกันตน หรือสูงสุดไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน ส่งผลให้นายจ้างด้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุด 450 บาทต่อเดือน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 (พนักงานเอกชน)

ปกติส่งเงินสมทบ ประกันสังคม ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ให้ลดเหลือ 2% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุด 450 บาทต่อเดือน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 

ปกติส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตรา 9% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือ 432 บาทต่อเดือน ให้ลดเงินสมทบเหลือ 2% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือ 96 บาทต่อเดือน ส่งผลได้รับการลดหย่อนเงินสมทบสูงสุด 336 บาทต่อเดือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo