Business

แก้หนี้เกษตรกร ‘จุรินทร์’ ลุยผ่อนผันคืนเงินต้น ชงครม.ของบเพิ่ม ฟื้นฟูเกษตรกร

กองทุนฟื้นฟู พัฒนาเกษตรกร ลุย แก้หนี้เกษตรกร ลดหย่อนผ่อนผัน ให้กองทุนฯ ซื้อหนี้เกษตรกร ที่มีบุคคลค้ำประกันได้ พร้อมชงครม. ของบเพิ่ม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม) มีการประชุมคณะกรรมการ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ เป็นประธาน โดยที่ประชุมฯ ได้หารือถึง แนวทางการเข้าช่วยเหลือ แก้หนี้เกษตรกร

แก้หนี้เกษตรกร

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกร จะเน้นแนวทางให้เกษตรกร มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูให้เกษตรกร กลับมายืนอยู่ได้ โดยไม่กลับไปสู่วงจรหนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้ปรับปรุงแก้ไข ให้กองทุนฯ สามารถเข้าไปซื้อหนี้เกษตรกร ที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ในเรื่องสำคัญ ๆ ได้แก่​

1. เห็นชอบ ร่างระเบียบ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คณะกรรมการบริหาร หรือ เลขาธิการกองทุน มีอำนาจผ่อนผัน หรือขยายเวลาการใช้คืนเงินต้นได้ หากเป็นกรณีที่ เกษตรกรประสบเหตุ ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย​

2. เห็นชอบ ร่างระเบียบ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการจัดการหนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไข การเก็บค่าเช่าซื้อ หรือ ระยะเวลาการเช่าซื้อ ให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่เกษตรประสบ หรือ ได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่น ๆ​

3. เห็นชอบให้ดำเนินการ จัดการหนี้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ และ ผ่านการเห็นชอบ จากอนุกรรมการจังหวัด จำนวน 3,648 ราย และ เกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA (หลักทรัพย์ประกันที่เจ้าหนี้ขายทอดตลาด) จำนวน 314 ราย

resize 5d4273f4eb290
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

4. เห็นชอบให้เสนอ ครม. ดังนี้

  • พิจารณา การขยายกรอบวงเงิน ซื้อทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด (NPA )และชำระหนี้เสีย (NPL) คงเหลือ จากเดิมไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องสืบเนื่องตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2552 และ 2555 ที่ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปแก้หนี้แก้เกษตรกร จำนวนรวม 4,083 ราย แต่ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้า กอปรกับมีปัจจัยอื่น ที่เป็นอุปสรรค จนทำให้กองทุนฯ ไม่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรเหล่านี้ ให้รักษาที่ทำกินไว้ได้

  • พิจารณา อนุมัติงบกลาง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ และฟื้นฟูเกษตรกร เพิ่มเติมจาก งบของกองทุนฯ ที่จัดสรรไว้แล้ว 2,055 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่พอกพูนจนถึงระดับที่ทำให้ ไม่มีที่อยู่อาศัย และ ที่ดินทำกิน  รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู เป็นเป้าหมายของ คณะกรรมการกองทุนฯ

ที่ผ่านมา ยังคงมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่แม้จะขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ แล้ว แต่กองทุนฯ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัด ทั้งที่เป็นระเบียบ และ งบประมาณ รองนายกฯจุรินทร์ จึงได้สั่งการให้แก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ และ เร่งดำเนินการวางแผนแก้หนี้ และฟื้นฟูทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการที่ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ปรับแก้ ให้อำนาจกองทุนฯ เข้าไปซื้อหนี้ ประเภทบุคคลค้ำประกันได้ จะทำให้เกษตรกร จำนวน 1.29 แสนราย ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้ง มติฯ ที่ให้อำนาจ สำนักงานกองทุนฯ ผ่อนผันหรือ ขยายเวลาการชำระคืนเงินต้น จะเป็นการต่อลมหายใจ บรรเทาภาระ ของเกษตรจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 รวม 2 หมื่นกว่าราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo