Business

ถก ‘ประกันราคายางพารา’ อีกรอบสัปดาห์หน้า ครม. คอนเฟิร์มพร้อมจ่ายเงินทันที

ถก “ประกันราคายางพารา” อีกรอบสัปดาห์หน้า ถ้า ครม. คอนเฟิร์ม “บัตรสีชมพู” พร้อมจ่ายคนขึ้นทะเบียนก่อน 12 ส.ค. 63 ทันที

เมื่อเร็วๆ นี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ว่า ความคืบหน้าล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเรียนเร่งด่วนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หาแนวทางการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

โดยมอบหมายให้ กยท. นำข้อคิดเห็นเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้าวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการ ประกันราคายางพารา ระยะที่ 2 ให้สามารถจ่ายได้เช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 ที่ผ่านมา

ประกันราคายางพารา ครม.

ทั้งนี้ หากมติที่ประชุม ครม. มีความเห็นตามที่เสนอ เกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการระยะที่ 1 และมีคุณสมบัติครบถ้วน คือขึ้นทะเบียนก่อน 12 สิงหาคม 2562 จะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีได้ทันที

ส่วนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15 พฤษภาคม 2563  กยท. ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกยางเพิ่มเติมแล้ว และส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป

สำหรับโครงการ ประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 เป็นมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเห็นชอบดำเนินโครงการเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ภายใต้กรอบงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท จำนวนเกษตรกรชาวสวนยาง 1.8 ล้านราย

ราคาประกันรายได้ที่โครงการตั้งไว้ คือ

  • ยางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 60.00 บาทต่อกิโลกรัม
  • น้ำยางสด (DRC 100%) อยู่ที่57.00 บาทต่อกิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 23.00 บาทต่อกิโลกรัม

การจ่ายเงินงวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

  • ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย อยู่ที่ 62.62 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ได้รับการชดเชย
  • ราคาน้ำยางสด(DRC 100%) อยู่ที่ 52.86 บาทต่อกิโลกรัม ชดเชย 4.14 บาทต่อกิโลกรัม
  • ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาทต่อกิโลกรัม ชดเชย 3.19 บาทต่อกิโลกรัม

ประกันราคายางพารา

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กยท. และ ธ.ก.ส. ยังไม่สามารถโอนเงินส่วนต่าง ประกันรายได้ชาวสวนยาง งวดที่ 1 ตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากสำนักงบประมาณติดขัดประเด็นเรื่องเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรสีชมพู

แต่ล่าสุดนายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จนเป็นที่ยุติว่า ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 คือ เกษตรกรชาวสวนยางทั้งบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพูที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และผ่านการตรวจสอบรับรองความเรียบร้อย จะได้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 ทุกคน

โดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งผลการหารือต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และให้ กยท. มีหนังสือประสานไปยังสำนักงบประมาณเพื่อจะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป

กยท. จึงจะมีหนังสือถึงสำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ พร้อมกับส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กับ ธ.ก.ส. ชุดแรก โดยพร้อมโอนเงินส่วนต่าง ประกันรายได้ ครั้งที่ 1 ภายในสัปดาห์หน้า ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากรัฐบาล และในเดือนมกราคมปีหน้าก็จะโอนจ่ายสำหรับงวดต่อไปจนครบ 6 งวด 6 เดือน ตามกรอบโครงการ ประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2

ประกันรายได้

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการ ประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางเป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการประกันความเสี่ยงด้านรายได้ในภาวะที่ราคายางมีความผันผวน โดยมีวัตถุประสงค์

1.เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ในกรณีที่ราคายางตกต่ำ ในช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

2.เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านราย ทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวดแรก วงเงิน 2,116 ล้านบาท เกิดปัญหาจ่ายเงินล่าช้า โดยต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2563 เนื่องจากสำนักงบประมาณมีมติแย้งเรื่องการจ่ายเงิน ประกันราคายางพารา ให้ผู้ถือ บัตรสีชมพู (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) โดยมองว่าควรจ่ายเงินให้เฉพาะชาวสวนยางที่ถือ บัตรสีเขียว (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์) เท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo