Business

‘รถไฟไทย-จีน’ เลื่อนกำหนดเปิดเป็นปี 68 วันนี้ลงนามผู้รับเหมาเพิ่ม 5 สัญญา

“รถไฟไทย-จีน” เลื่อน กำหนดเปิด ยาวถึงปี 68 วันนี้ลงนามผู้รับเหมาเพิ่ม 5 สัญญา มูลค่า 4 หมื่นล้าน วาดฝันดันประเทศไทยเป็นฮับคมนาคม

วันนี้ (26 พ.ย. 63) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศรปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา จำนวน 5 สัญญา ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และผู้รับเหมาที่เป็นบริษัทคู่สัญญา

รถไฟไทย-จีน กำหนดเปิด

เลื่อน กำหนดเปิด “รถไฟไทย-จีน”

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนในวันนี้ ประกอบด้วย 5 สัญญา ได้แก่

  • สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการโดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้าง ทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กิโลเมตร

รถไฟไทย จีน ลงนามสัญญา

  • สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ถึง 37.45 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รถไฟไทย-จีน ทั้ง 5 สัญญาที่ลงนามในวันนี้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 101.15 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ

shutterstock 300000056

รัฐบาลให้ความสำคัญ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน จำนวน 5 สัญญา ในวันนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน

โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว

ล่าสุด ก็ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา

shutterstock 1826476106

“รถไฟไทย-จีน” ยังห่างไกลคำว่าเปิดวิ่ง 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ได้เป็นประธานในพิธีตักดินเริ่มก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท นับเป็นการเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก จำนวน 1 สัญญา แต่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตรนี้ กลับมีปัญหาความล่าช้าอย่างมาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของทางราชการ รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับเทคนิคก่อสร้างและมาตรฐานของประเทศจีน โดยเพิ่งมาแล้วเสร็จ 100% เมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 250 กิโลเมตรที่เหลือ รัฐบาลได้เปิดให้ผู้รับเหมาเอกชนเข้าประมูลก่อสร้างเป็นการทั่วไปจำนวน 13 สัญญา ที่ผ่านมามีการลงนามสัญญาไปแล้ว 1 สัญญาและลงนามเพิ่มเติมในวันนี้อีก 5 สัญญา ดังนั้นจึงเหลืออีก 7 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม

โดยคาดว่า การเปิดให้บริการ รถไฟไทย-จีน ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2568 จากกำหนดแรกเริ่มที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2565-2566

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo