Business

ไขข้อข้องใจ ใคร ‘ขึ้นทะเบียนเกษตรกร’ ได้บ้าง มีสิทธิรับเงินประกันรายได้

ขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใครขึ้นทะเบียนได้บ้าง ต้องเพาะปลูกอะไร ถึงจะเข้าเกณฑ์ และมีสิทธิรับเงินประกันรายได้จากรัฐบาล

จากนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกร จากภาวะผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยการจัดทำโครงการ ประกัยรายได้เกษตรกร สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักๆ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียบร้อยแล้ว จึงจะมีสิทธิรับเงินช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว

ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เกษตรกร ควรขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เรียบร้อย เราจึงรวบรวม หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร มาไว้ ดังนี้

เกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

  • บุคคลในครัวเรือนคนใดคนนึง หรือ หลายคนที่ประกอบการเกษตร
  • ฐานทะเบียนเกษตรกร กำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน = 1 ครัวเรือน (ตั้งแต่ ต.ค.56 เป็นต้นมา)
  • เกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียน ต้องบรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย กรณีที่เป็นนิติบุคคล จะต้องมีการมอบหมายผู้แทน มาขึ้นทะเบียน
  • ต้องประกอบการเกษตร หมายถึง การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์การเลี้ยงสัตว์น้ำ การทํานาเกลือสมุทร
    การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และเกษตรอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจําหน่ายหรือใช้งานในฟาร์ม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ดังต่อไปนี้

ขึ้นทะเบียน

1. การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป

2. การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งงานขึ้นไป

3. การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่และมีจํานวนต้นตั้งแต่สิบห้าต้นขึ้นไป

4. การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ และมีจํานวนต้น ตั้งแต่สิบห้าต้นขึ้นไป

5. การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไป

6. การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป

7. การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ห้าตัวขึ้นไป

8. การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ห้าสิบตัวขึ้นไป

9. การเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน

10. การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป

11. การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน

12. การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง
จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

13. ประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์
ที่กําหนดตาม 1 ถึง 12 และมีรายได้ตั้งแต่แปดพันบาทต่อปีขึ้นไป

ทะเบียน

สำหรับ เกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม สามารถแจ้งปรับปรุงได้ที่ สํานักงานเกษตรอําเภอทุกแห่ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อม และร่วมเป็นหน่วยสนับสนุน ที่เกษตรกรมีพื้นที่การเกษตรอยู่, อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หรือสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่าน DOAE Farmbook Application ด้วยโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) ได้ด้วยตนเอง

ส่วนกรณี เกษตรกรรายเดิม แต่เพิ่มแปลงใหม่ หรือเกษตรกรรายใหม่ ให้ยื่นเอกสารที่สํานักงานเกษตรอําเภอที่ตั้งแปลงที่ทํากิจกรรมการเกษตรอยู่ หากมี แปลงที่ทํากิจกรรมการเกษตรหลายพื้นที่ หลายอําเภอ ให้ยื่นที่สํานักงานเกษตรอําเภอที่ตั้งแปลงหลัก (อําเภอที่มีจํานวนแปลงมากที่สุด)

กรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต (Tablet) ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เจ้าหน้าที่สามารถรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรราย ใหม่ในพื้นที่ พร้อมวาดผังแปลงไปพร้อมๆ กันในคราวเดียวได้

สำหรับ เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ประกอบด้วย

  • เกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม ใช้บัตรประจําตัวประชาชนตัวจริง
  • เกษตรกรรายใหม่ หรือ รายเดิม เพิ่มแปลงใหม่ ใช้บัตรประจําตัวประชาชนตัวจริง พร้อมหลักฐานแสดงสิทธิการถือครองที่ดินตัวจริง หรือสําเนาที่มีการรับรองสําเนาจากผู้ครอบครอง ทั้งนี้ สามารถเรียกหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามความจําเป็นและเหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo