Business

เทียบฟอร์ม 3 หุ้น ‘ร้านอาหารดัง M – ZEN – AU ‘

เทียบฟอร์ม 3 หุ้น ร้านอาหารดัง “M – ZEN – AU” หลังผ่านไตรมาส 3 ไปแล้ว ผลประกอบการเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร 

“ร้านอาหาร” เป็นธุรกิจที่โดนผลกระทบรุนแรงเหมือนกันในปีนี้ โดยเฉพาะช่วงไตมาส 2 ที่ต้องมีการปิดสาขาไปพอสมควร จากการที่ห้างสรรพสินค้าเปิดไม่ได้นานถึง 2 เดือน ทำให้ยอดขายหด กำไรหาย คำถามที่หลายคนสงสัย คือ แล้วไตรมาส 3 นี้ ธุรกิจร้านอาหารกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้แล้วหรือยัง ? 

วันนี้เราจึงขอยก 3 หุ้นร้านอาหาร ดังมาเจาะลึกมาดูกันชัด ๆ ได้แก่ 1. หุ้น M บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 2. หุ้น ZEN บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 3. หุ้น AU บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) 

22NOV เทียบฟอร์มหุ้นร้านอาหารดัง M ZEN AU

โดยจะขอเปรียบเทียบใน 3 ปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อธุรกิจร้านอาหารโดยตรง นั่นคือ 

 1. Same Store Sale Growth (SSSG) คือ ตัวเลขที่บอกการเติบโตยอดขายของสาขาเดิม เพื่อบ่งบอกว่าร้านมีความสามารถในการเติบโตแบบ Organic ได้ดีแค่ไหน

2. SG&A ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าการตลาด เพื่อเป็นตัวสะท้อนว่าสามารถรัดเข็มขัดในช่วงวิกฤติได้ดีแค่ไหน

3. ผลกำไรขาดทุน บรรทัดสุดท้ายบนงบการเงินที่บอกได้ดีที่สุดว่าธุรกิจกลับมาฟื้นตัสได้แล้วหรือยัง

1. Same Store Sale Growth

M : SSSG ลดลง -14% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ลดลง -57% 

ZEN : SSSG ลดลง -18.9% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตามาส 2 ที่ลดลง -58.3% 

AU : SSSG ลดลง -38.5% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ลดลง -58.2% 

ย้อนกลับไปช่วงไตรมาส 2 จะเห็นว่ายอดขายของสาขาเดิมหายไปครึ่งหนึ่งเท่าๆ กันทุกร้าน เนื่องจากห้างสรรพสินค้าเปิดไม่ได้ แต่พอกลับมาเปิดได้ในไตรมาส 3 จะเห็นว่ายอดขายของสาขาเดิมเริ่มกลับมาแล้ว ซึ่ง เอ็มเค ถือเป็นเจ้าที่ทำได้ดีที่สุด เพราะฐานลูกค้าหลักเป็นคนไทย ต่างจากอาฟเตอร์ยู ที่ยังไม่ค่อยดีนัก ซึ่งก็อาจเป็นผลมาจากลูกค้าต่างชาติที่ลดลงไปนั่นเอง

22NOV เทียบฟอร์ม 3 หุ้นร้านอาหารดัง M ZEN AU e1606055545334

2. SG&A

M : SG&A เท่ากับ 2,004 ล้านบาท (+20.9% QoQ) รายได้รวม 3,864 ล้านบาท (+76% QoQ)

ZEN : SG&A เท่ากับ 284 ล้านบาท (+21.1% QoQ) รายได้รวม 679 ล้านบาท (+100% QoQ,)

AU : SG&A เท่ากับ 90 ล้านบาท (+8.4% QoQ) รายได้รวม 1,388 ล้านบาท (+43.2% QoQ)

ทีนี้มาดูกันต่อว่าแต่ละร้านอาหาร สามารถลดค่าใช้จ่ายได้แค่ไหน ซึ่งต้องเทียบสัดส่วนกับรายได้ด้วย คือ ควรจะลดได้มากกว่ารายได้ที่หายไป หรือเพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นมา 

ข้อสังเกต คือ ZEN สามารถทำได้โดดเด่นกว่าคนอื่น ซึ่งหากวิเคราะห์กันเบื้องต้น เป็นไปได้ว่าบริษัทมีการเจรจาต่อรองกับห้างสรรพสินค้าเพื่อขอลดค่าเช่าในบางสาขา เนื่องจากอย่างที่ทราบกันว่า ZEN ธุรกิจร้านอาหารในเครือ “จิราธิวัฒน์” เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล ทำให้อาจจะได้รับประโยชน์จากข้อได้เปรียบตรงจุดนี้ 

3. ผลกำไรขาดทุนสุทธิ

M กำไรสุทธิ 465 ล้านบาท (+156% QoQ, -15.4% YoY)

ZEN กำไรสุทธิ 45.5 ล้านบาท (+156% QoQ, +105.6% YoY)

AU กำไรสุทธิ 27.8 ล้านบาท (+1003.6% QoQ, -57% YoY)

ทุกเจ้ามีกำไรสุทธิไตรมาส 3 เป็นบวกได้ทั้งหมด และไม่มีใครเจอภาวะขาดทุนเหมือนไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเปรียบเทียบผลกำไรจึงอยากให้ดูแบบ YoY และไม่ควรเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจขาดทุนอย่างหนัก ทำให้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอาจจะหลอกตาได้

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จะเห็นว่ามีเพียง ZEN เท่านั้นที่เติบโตได้ แต่ก็ต้องย้ำว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้ส่วนลดจากค่าเช่าด้วย คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าหากค่าเช่ากลับมาอยู่ในระดับปกติจะเป็นอย่างไร 

ในส่วนของ M ยังติดลบอยู่ แต่ก็เป็นอัตราที่เข้าใจได้ และสอดคล้องกับทั้ง SSSG และ SG&A ขณะที่ AU ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย การปรับลดรายจ่าย จนไปถึงกำไรสุทธิที่ยังค่อนข้างมีโอกาสฟื้นตัวยากที่สุดนั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo