Business

‘ไทยรัฐ’ New Normal หนีสิ่งพิมพ์ขาลง ชูจุดแข็งสายส่ง หันซบ ‘โลจิสติกส์’

ไทยรัฐ ยักษ์หนังสือพิมพ์หัวสี ปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ หนีสิ่งพิมพ์หดตัวต่อเนื่อง ชูจุดแข็งสายส่งหนังสือ รุกโลจิสติกส์ เพิ่มรายได้

การประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่ม ของ ไทยรัฐกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์หัวสียักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” เพื่อเตรียมจัดตั้งธุรกิจขนส่งสินค้า ภายใต้ชื่อ “ไทยรัฐ โลจิสติกส์” สะท้อนนัยยะสำคัญได้หลายด้าน

ไทยรัฐ

โดยเฉพาะ ภูมิทัศน์สื่อ ที่เปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือหลังมือ จนทำให้ยักษ์ใหญ่ ต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะกลายสภาพเป็นยักษ์เล็ก หรือยักษ์หลับ ในที่สุด

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดเจนว่า ไทยรัฐถึงเวลาปรับตัว คือ ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในเดือนตุลาคม หดตัวถึง 25% โดยมีการใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อนี้เพียง 334 ล้านบาท ลดลงจาก 445 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2562

ขณะที่การใช้งบโฆษณา 9 เดือนก็ลดลงจาก 4,756 ล้านบาท ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2562 เหลือ 3,103 ล้านบาท ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563

ไทยรัฐ 01

นอกจาก ภูมิทัศน์สื่อ ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค ที่หันไปหาสื่อออนไลน์มากขึ้นแล้ว อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ยังเป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤติโควิด-19 เมื่อสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อผู้บริโภค จนต้องลดการใช้งบโฆษณาลง

ภาวะการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ อุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวม ในเดือนตุลาคม หดตัวลงหรือ –15% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมอยู่ที่ 9,437 ล้านบาท ลดลงจาก 11,070 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2562

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ ผลการดำเนินงานของ ไทยรัฐกรุ๊ป ต้องประสบภาวะขาดทุน และ ปรับลดพนักงานลง 30% โดยในปี 2562 บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีรายได้รวม 1,706.03 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,722.93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 36.04 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการขาดทุนเป็นปีแรก เมื่อเทียบจากปี 2560 มีกำไรสุทธิ 603.79 ล้านบาท และปี 2561 มีกำไรสุทธิลดลงมาเหลือ 313 ล้านบาท

รถไทยรัฐ

ในทางกลับกัน เมื่อมองไปถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ต้องยอมรับว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ในยุคอีคอมเมิร์ซเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุควิกฤติโควิด ที่ทำให้ผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ยิ่งทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ ได้รับ อานิสงส์ จากการซื้อออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ตลาดขนส่งพัสดุมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 35%

อีกปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ที่ทำให้ ไทยรัฐกรุ๊ป มองไปถึงการขยายไลน์ธุรกิจ สู่โลจิสติกส์ นั่นคือ การมี รถขนส่ง หรือรถสายส่ง ที่มีแข็งแกร่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ จากการจัดส่งหนังสือพิมพ์

เมื่อรายได้จากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ลดลง การเพิ่มธุรกิจโลจิสติกส์ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ จึงเป็นทั้งการชดเชย เติมเต็ม และต่อยอดได้เป็นอย่างดี

อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ เค้าลางของการขยายธุรกิจใหม่ สู่โลจิสติกส์ ของไทยรัฐกรุ๊ป เริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ การร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วศท.) และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ขนส่งตู้ความดันลบ ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงที่ประเทศไทย เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้รถขนส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขนส่งอุปกรณ์ติดตั้งตู้ความดันลบจำนวน 4 กล่องต่อ 1 ชุด พร้อมคู่มือการติดตั้ง

ปัจจุบันไทยรัฐกรุ๊ป มีรถบรรทุก 6 ล้อ เครื่องยนต์พิเศษ สำหรับขนส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำความเร็วเฉลี่ย 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อขนส่งหนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯ ไปยังสายส่ง เพื่อกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นเส้นทางตามภาค ทั้ง สายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก

ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ และขยายไลน์ธุรกิจใหม่ครั้งนี้ จึงเป็นความหวังใหม่ ของไทยรัฐกรุ๊ป ที่คาดหวังว่า จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เมื่อเป็นการปรับเพื่อให้สอดรับ New Normal  ทั้งของผู้บริโภค และภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo