Business

ปตท.รุกตลาดพลังงานหมุนเวียนต่างประเทศ ซื้อหุ้น 50% ในบริษัทลูก GPSC

ปตท. สยายปีกลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ มุ่งพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานลม ซื้อหุ้น 50% ใน GRP ผลักดันเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในอีก 10 ปี

บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) ซื้อหุ้นบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด(GRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้น100% จาก GPSC จำนวน 4.655 ล้านหุ้น คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน โดยซื้อผ่านบริษัทย่อยของ ปตท. คือ บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ PTTGM  มูลค่า 693 ล้านบาท

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่าการร่วมทุนครั้งนี้ เป็นอีกก้าวของการยกระดับความร่วมมือตามกลยุทธ์ Powering Thailand’s Transformation ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด

การลงทุนเพื่อผลักดันให้กลุ่มบรรลุเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

“เป็นการรวบรวมบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน จากทั้ง ปตท. และ GPSC มาดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่าการซื้อหุ้นครั้งนี้ ถือเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนในระดับสากล รวมทั้งส่งผลให้ GPSC สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามเป้าหมาย

GPSC ยังคงเป็นแกนนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนของกลุ่ม ปตท. โดยปัจจุบัน GRP ลงทุนในธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริหารและการบำรุงโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) จำนวน  9 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และ ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 39.5 เมกะวัตต์

GPSC มีสัญญาการซื้อขายไฟเป็นระยะเวลา 25 ปี แบ่งเป็น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย สำหรับช่วง 10 ปีแรกของสัญญาในสัดส่วน 3.6 เมกะวัตต์ และ สัญญาในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ในสัดส่วน 35.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่ปี 2557 – 2558

อ่านข่าวเพิ่มติม

Avatar photo