Business

‘แอร์เอเชีย เจแปน’ ประกาศ ‘ล้มละลาย’ แบกหนี้อ่วม 6,200 ล้าน

แอร์เอเชีย เจแปน ประกาศล้มละลาย เซ่นพิษโควิด-19 หลังแบกหนี้สินถึง 6,200 ล้านบาท ไม่มีเงินจ่ายคืนค่าตั๋วเครื่องบิน 2.3 หมื่นใบ ให้ลูกค้า

แอร์เอเชีย เจแปน (AirAsia Japan Co) สายการบินต้นทุนต่ำในเครือแอร์เอเชีย กรุ๊ปของมาเลเซีย ประกาศล้มละลาย หลังจากได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ  ประกาศล็อกดาวน์ และระงับการเดินทาง ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างหนัก

แอร์เอเชีย

ทั้งนี้ แอร์เอเชีย เจแปน นับเป็นสายการบินแรกในญี่ปุ่น ที่ประกาศล้มละลาย โดยมีสาเหตุมาจาก โควิด-19 ซึ่งล่าสุด แอร์เอเชีย เจแปนมีหนี้สินรวม 2.17 หมื่นล้านเยน (208 ล้านดอลลาร์) หรือประมาณ 6,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจ่ายค่ารีฟันด์ตั๋วเครื่องบินจำนวน 23,000 ใบ ที่ลูกค้าซื้อโดยตรงจากทางบริษัท ซึ่งหากรวมตั๋วที่ลูกค้าซื้อผ่านเอเยนซี่ พบว่า มีมูลค่าของตั๋วทั้งหมดอยู่ที่ราว 520 ล้านเยน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา แอร์เอเชีย เจแปน แถลงว่า บริษัทจะปิดกิจการในเดือน ธันวาคม 2563 โดยจะยกเลิกเส้นทางการบินทั้งหมดในญี่ปุ่น รวมทั้งเที่ยวบินไปกรุงไทเป ของไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินระหว่างญี่ปุ่นกับจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในต่างแดน อย่างเช่น ประเทศไทย ยังคงให้บริการผ่านสายการบินอื่นๆ ของแอร์เอเชีย

ด้าน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 AAV มีผลประกอบการขาดทุน 1,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 441% จากช่วงเดียวกันก่อนที่ขาดทุน 416 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.3787 บาท

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนในปี 2563 สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย มีผลประกอบการ ขาดทุน 3,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 809% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 401 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.7525 บาท

ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน

ผลประกอบการดังกล่าวเกิดจาก AAV มีรายได้รวม 2,403.2 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,657 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 5,520.2 ล้านบาท ลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวน 1,836.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ AAV มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดปลายไตรมาสที่ 3 จำนวน 2,351 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2,566 ล้านบาท นอกจากนี้ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,272 บาทต่อคน

AAV เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2563 ผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ นำมาซึ่งการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งในบางประเทศและการปิดพรมแดนเพื่อลดการแพร่ระบาด

ถึงแม้บางประเทศจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo