Business

‘พาณิชย์’ เคาะจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าวงวด 2 หอมมะลิ รับ 3 พันบาท

ประกันรายได้ข้าว งวด 2 “พาณิชย์” เคาะจ่ายส่วนต่างให้กับข้าว 5 ชนิด  หลังราคายังต่ำกว่าเพดานประกัน  หอมมะลิ – หอมมะลินอกพื้นที่ ชดเชยเพิ่มขึ้น ขณะข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว รับชดเชยลดลง เหตุราคาขึ้นตามมาตรการรัฐ  

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รักษาราชการแทนอธิบดี กรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแล และกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคา ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 งวดที่ 2  มีมติจ่ายเงินส่วนต่าง ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 5 ชนิด คือข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว เพราะทุกชนิดยังมีราคาต่ำ กว่าราคาที่ประกันรายได้

โดยราคาตลาดปัจจุบันกับราคาที่ประกันรายได้ดังนี้

ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 12,003.03 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 2,996.97 บาท

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,727.04 บาท มีส่วนต่างตันละ 2,272.96 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,880.82 บาท มีส่วนต่างตันละ 1,119.18 บาท

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 9,939.84 บาท มีส่วนต่างตันละ 1,060.16 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,688.99 บาท มีส่วนต่างตันละ 1,311.01 บาท

ประกันรายได้ข้าวงวด 2 หอมมะลิได้สูงสุด

ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 2 ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 41,957.58 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 36,367.36 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 33,575.40 บาท , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,504 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 20,976.16 บาท

ประกันรายได้ข้าวงวด 2
ประกันรายได้ข้าวงวด 2 สำหรับโครงการประกันรายได้ ราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง ยังมาจากเหตุผลเดิม คือ ผลผลิตข้าวนาปีเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การบริโภคในประเทศลดลง จากการไม่มีนักท่องเที่ยว เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การส่งออกปรับตัวลดลง จากการที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง เพราะเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน แต่มีแนวโน้มที่ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะการมาตรการชะลอการขายข้าว การเก็บข้าวในสต็อก เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกิน

ข้าว17

ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 (รอบที่ 1) นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคา ไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว โดยกลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์กว่า 4.04 ล้านราย

โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละ ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน กรณีเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนสูงสุดของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

ธกส.เริ่มโอนเงินประกันรายได้วันนี้ 

คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงครั้งแรกวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการฯ ความชื้นข้าวเปลือกแต่ละชนิด ไม่เกิน 15% โดย ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้ชดเชยส่วนต่างราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2,911.17 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 1,222.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินทั้งสิ้น 871,869 ราย เป็นเงิน 9,298 ล้านบาท จากนั้นจะประกาศราคาอ้างอิงทุก ๆ 7 วัน จนถึงวันสิ้นสุดโครงการฯ

ประกันรายได้ข้าวงวด 2
กษาปณ์ เงินรวง

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน

จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight