Business

เช็คลิสต์ได้ที่นี่! ประกันลดหย่อนภาษี ปี 2563 รีบวางแผนก่อนสิ้นปี

ประกันลดหย่อนภาษี ใกล้สิ้นปี 2563 ห้ามพลาด เป็นจังหวะที่หลายคนหามาตรการลดหย่อนภาษี นอกจากลดหย่อนภาษีตามนโยบายรัฐบาลในบางปีแล้ว ยังมีการลดหย่อนภาษีที่ให้ผู้เสียภาษีลดหย่อนได้จากการ “ซื้อประกัน” เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัว

การลดหย่อนภาษีผ่านการ “ซื้อประกัน” เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ออกมามาตรการเพิ่มเติมหลายรายการ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคม นอกจากระบบประกันของรัฐบาล เช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังส่งเสริมให้คนทำหลักประกันให้กับตนเองด้วย

คนที่ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี ทราบเงื่อนไขแต่ละปีตั้งแต่ซื้อประกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป รายได้มากขึ้นอาจต้องซื้อประเภทอื่นเพิ่มเติม ซึ่งบางกรณีรัฐบาลได้ประกาศรายการลดหย่อนประเภท “ซื้อประกัน” เพิ่มเติม ทำให้สามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มได้ หากสามารถวางแผนทางการเงินได้

ในปี 2563 ซึ่งกำหนดยื่นภาษีบุคคลธรรมดาภายในเดือน มี.ค. 2564 (ต้องรอประกาศของกรมสรรพากรว่าจะมีการเลื่อนให้จ่ายภาษีหรือไม่จากผลกระทบโควิด-19) แต่ผู้เสียภาษีต้องทำธุรกิจทุกประเภทภายในปี 2563 นั่นคือเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน

สำหรับการลดหย่อนภาษีในปี 2563 ประเภท “ประกันลดหย่อนภาษี” มีทั้งหมด 4 รายการ คือ ประกันชีวิตทั่วไป (ซึ่งรวมถึงเงินฝากแบบมีประกันชีวิต) เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และ เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ซึ่งรายการหลังเป็นรายการล่าสุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับรายการลดหย่อนภาษีประเภท “ประกัน”

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิต : เป็นการซื้อประกันที่มีมายาวนาน เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ผู้เสียภาษีมีหลักประกันในชีวิต โดยสามารถลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีครอบครัวไหนที่คู่สมรสไม่มีรายได้ ก็สามารถใช้สิทธิประเภทนี้ได้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา : เป็นมาตรการทางภาษีที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ดูแลบิดามารดา และ เป็นการลดภาระหากบิดามารดาเจ็บป่วย ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถซื้อประกันประเภท “ประกันสุขภาพ”ได้ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งลดหย่อน “บิดามารดา”ทุกคนรวมกัน ไม่ใช่ “คนละ” 15,000 บาท

สำหรับการประกันชีวิตประเภทนี้ต้องซื้อประกันกับบริษัทในไทยเท่านั้น โดยเป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากเจ็บป่วยและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ประกันภัยโรคร้ายแรงและประกันภัยดูแลระยะยาว

กรณีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ก็สามารถนำ “เบี้ยประกัน”ของบิดามารกาคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน แต่รวมกัน “ทุกคน” ต้องไม่เกิน 15,000 บาท และต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง : ผู้เสียภาษีที่ต้องการประกันสุขภาพให้กับตนเองที่เริ่มจ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 สามารถซื้อประกันประเภทนี้ได้ “ตามที่จ่ายจริง” แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท แต่ในหลักการทางภาษีที่ให้สิทธิลดหย่อน “ประกันชีวิต” และ “เงินฝากแบบมีประกัน”อยู่แล้ว จึงถือว่าเป็นประเภทเดียวกัน เมื่อรวมกันทั้ง 3 ประเภทต้องไม่เกิน 100,000 บาท

สำหรับการประกันชีวิตประเภทนี้ต้องซื้อประกันกับบริษัทในไทยเท่านั้น โดยเป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากเจ็บป่วยและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ประกันภัยโรคร้ายแรงและประกันภัยดูแลระยะยาว ซึ่งผู้ซื้อประกันจะ “ต้องแจ้ง”บริษัทประกันด้วยว่าต้องการนำปลดหย่อนภาษี เนื่องจากจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ม.ค.ของทุกปี

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีภาษี แต่กรณีที่ยังไม่ได้ซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไป ก็อาจลดหย่อนได้ถึง 300,000 บาท

สำหรับเงื่อนไข “เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ” จะต้องมีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และกำหนดช่วงอายุที่จ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป อีกทั้งต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบตามเงื่อนไขก่อนได้รับผลประโยชน์จากการประกัน

อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ถือเป็นรุปแบบหนึ่งของการออม ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการส่งสริมอยู่แล้ว ดังนั้น เบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้ต้องนำไปรวมกับระบบการออมประเภทอื่นด้วย คือ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กล่าวโดยสรุป การลดหย่อนภาษีประเภท “ซื้อประกัน” ในรอบปีภาษี 2563 มีทั้งสิ้น 4 ประเภท แต่ละประเภทมีเงื่อนไขและรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมา ขึ้นกับวัตถุปรสงค์ของการส่งเสริมให้ประชาชนมี “ประกัน”

สำหรับมีผู้รายได้ประจำและมีความมั่นคงด้านรายได้ สามารถวางแผนภาษีได้เพื่อมี “คืนเงินภาษี”ได้มากขึ้น แต่ต้องจำไว้เสมอว่าการลดหย่อนภาษีประเภท “ซื้อประกัน” เป็นภาระผูกพันระยะยาว แม้จะไม่มีความเสี่ยงจาก “การลงทุน” เหมือนประเภทอื่น เพราะส่วนใหญ่บริษัทประกันไปลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง แต่เป็นความเสี่ยงของผู้เสียภาษีเองในเรื่อง “ภาระผูกพัน” ที่จะเกิดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo