Business

ศาลฯ นัดไต่สวนคดี BTS ฟ้องประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 17 พ.ย.

ศาลปกครองฯ นัดไต่สวน คดี BTS ฟ้องปมเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 17 พ.ย. นี้

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุด นัดไต่สวน คำร้องที่ 389/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ฟ้องคดี กับ ะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ณ ห้องพิจารณาคดี 4 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ในคดีนี้ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง RFP ครั้งที่ 1 ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนรวมกัน แล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนนและคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนนในการคัดเลือกเอกชนไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดว่า คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐและการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เพราะทำให้เกิดความล่าช้าในการคัดเลือกเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบให้การเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนงานของรัฐบาลที่กำหนดทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้รัฐเกิดภาระค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่ตามมาอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชนในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ

S 12992611

สำหรับประมูลครั้งนี้เป็นศึกชิงสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้ม 30 ปี มูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งระบบ ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดย รฟม. เพิ่งเปิดรับซองข้อเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา และมีบริษัทยื่นซองข้อเสนอ จำนวน 2 ราย ดังนี้

  • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน รวมถึงบริหารระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) หลายเส้นทาง
  • กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

รถไฟฟ้า

โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

  • ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี
  • ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo