Business

เปิดเหตุผล! 3 เสียงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ค้าน ‘ควบรวม ซีพี-เทสโก้’ ห่วงผูกขาด

ควบรวม ซีพี-เทสโก้ ไม่ฉลุย 3 เสียงข้างน้อย คณะกรรมการแข่งขันการค้า เปิดเหตุผล ไม่เห็นชอบ หวั่นผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาดจนอาจครอบงำ เศรษฐกิจการค้าของประเทศ

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษก คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีมติเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบกรณี ควบรวม ซีพี-เทสโก้ แต่มี กรรมการการแข่งขันทางการค้า 3 เสียง ที่ไม่เห็นชอบ การอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

ควบรวม ซีพี-เทสโก้

ทั้งนี้ เนื่องจาก มองว่า การรวมธุรกิจทั้งสองบริษัทดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจได้ เพราะผู้ขออนุญาต มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ดังนั้น เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูง ทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค อาจส่งผลให้ผู้ขออนุญาต มีอำนาจเหนือตลาดสูงมาก จนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้ เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่า จะมีผลกระทบต่อคู่แข่งในตลาด เพราะผู้ขออนุญาตเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ ที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่ หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ที่จะเข้าสู่ตลาด จะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะแข่งขันได้ในตลาด จะต้องใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการตลาดที่เน้นการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

กรณีดังกล่าว แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใด ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะคู่แข่ง ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งในที่สุด จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

เทสโก้ 1

ส่วนผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (ซัพพลายเออร์) จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ขออนุญาต และบริษัทในเครือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ ผู้ขออนุญาต มีอำนาจเหนือตลาด และมีอำนาจต่อรองกับ (ซัพพลายเออร์) มากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก มีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างไม่เป็นธรรม ในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอม ที่จะต้องรับเงื่อนไข ตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอ โดยไม่มีข้อต่อรองใด ๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่สามารถวางสินค้าจำหน่าย หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่าย และต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ในส่วนของผู้บริโภค ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้น อาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคา หรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาว อาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภค ทั้งประเภทชนิดสินค้า และระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการ หรือ นโยบายของกลุ่มบริษัท ที่เป็นของผู้ขออนุญาต และหากมีการลงทุน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีก ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การออกมาชี้แจงในครั้งนี้ เพราะต้องการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักความโปร่งใสในการพิจารณา ไม่ได้ต้องการสร้างความสับสน ความแตกแยก เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นกังวล และไม่เห็นด้วยในการพิจารณาให้ควบรวมธุรกิจ ส่วนมติที่ออกมาด้วยเสียงข้างมาก อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ พร้อมมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นทางการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับ กรรมการเสียงข้างน้อย 3 คน ที่ไม่เห็นด้วย กับการควบรวมธุรกิจ ประกอบด้วย นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. และกรรมการอีก 2 คน คือ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และ นางอร่ามศรี รุพันธ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo