Business

9 เดือนแรก ‘ไทยแอร์เอเชีย’ ขาดทุน 3.6 พันล้าน ‘ประเสริฐ’ พ้น ‘สายการบินนกแอร์’

สายการบินยังเจ็บหนัก! AAV แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน “ไทยแอร์เอเชีย” ขาดทุน 3.6 พันล้าน ด้าน “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ยื่นลาออกจากประธานบอร์ด “นกแอร์”

คืนวานนี้ (10 พ.ย. 63) บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 AAV มีผลประกอบการขาดทุน 1,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 441% จากช่วงเดียวกันก่อนที่ขาดทุน 416 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.3787 บาท

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนในปี 2563 สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย มีผลประกอบการ ขาดทุน 3,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 809% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 401 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.7525 บาท

ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน

ผลประกอบการดังกล่าวเกิดจาก AAV มีรายได้รวม 2,403.2 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,657 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 5,520.2 ล้านบาท ลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวน 1,836.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ AAV มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดปลายไตรมาสที่ 3 จำนวน 2,351 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2,566 ล้านบาท นอกจากนี้ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,272 บาทต่อคน

 

ไตรมาส 3 ไทยแอร์เอเชีย ยังอ่วมพิษโควิด

AAV เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2563 ผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ นำมาซึ่งการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งในบางประเทศและการปิดพรมแดนเพื่อลดการแพร่ระบาด

ถึงแม้บางประเทศจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวน้อยกว่าไตรมาสก่อน โดยตัวเลขการส่งออกหดตัวน้อยลงในเดือนกันยายนและมีทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศอันเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน

โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติระหว่าง เดือนมกราคม – กันยายน 2563 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 76.8% และ 59.5% ตามลำดับ และจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเที่ยวไทยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 77.3% และ 54.7% ตามลำดับ 3

69959430 2554525177931722 5268572945336238080 o

อย่างไรก็ดี การส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศจากภาครัฐผ่าน “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนและช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ฟื้นตัวดีขึ้น โดยในเดือนกันยายน 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยภายในประเทศคิดเป็น 65% ของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการแพร่ระบาดเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ 55%

ดังนั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงต้องดำเนินการอย่างประคับประคองให้ผ่านปีนี้ไป ตราบใดที่ยังไม่มีการผลิตวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโควิด-19 ที่ดี สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติคงยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

“ไทยแอร์เอเชีย” หวังนโนบายรัฐพยุงไตรมาส 4

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ให้ความเห็นว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เราเริ่มได้รับสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ที่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ กำหนดนโยบายและอัดแคมเปญกระตุ้นการเดินทาง ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียเริ่มเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ๆ ในเดือนกันยายน 2563 โดยสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย ได้กลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศคิดเป็น 96% ของปริมาณที่นั่งก่อนการแพร่ระบาด Covid-19

“ในไตรมาสที่ 3 เรารุกเดินหน้าในการเปิดฐานปฏิบัติการบินใหม่ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ไทยแอร์เอเชีย เป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการบินสะดวกเลือกได้ที่กรุงเทพฯ ใน 2 ท่าอากาศยาน เสริมทัพจากท่าอากาศยานดอนเมือง เเละถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ รวมทั้งเตรียมความพร้อม เมื่อมีนโยบายเปิดประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ สามารถกลับมาให้บริการได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งกับผู้โดยสารเเละด้านการขนส่งสินค้า ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป” นายสันติสุขกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสันติสุขมองว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปริมาณที่นั่งเส้นทางบินภายในประเทศจะเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาด โควิด-19 เป็นผลจากการเปิดฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเพิ่มเส้นทางการบินในประเทศและความถี่ให้มีมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับปริมาณความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนั้น

อีกทั้งไตรมาสที่ 4 นั้น เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว การเดินทางมีเเนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการที่รัฐบาลขยายเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2564 รวมทั้งการเริ่มมีนโยบายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในโครงการ Special Tourist Visa (STV) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพำนักและท่องเที่ยวในประเทศไทยระยะยาว โดยมองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและพร้อมตอบรับกับมาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศ ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร จนถึง 30 เมษายน ปี 2564 เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์

“ประเสริฐ” ลาออกประธานบอร์ดนกแอร์

เย็นวานนี้ (10 พ.ย. 63) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ยังได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ได้ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระและประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

อ่าวข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo