Business

เศรษฐกิจฝืด ทำความสุขประชาชน ‘ลด’ อยากให้รัฐช่วยค่าครองชีพ

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน เพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอด การใช้ชีวิตให้มีความสุข จึงเป็นเรื่องยากลำบาก

เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ต่อกรณี “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” จำนวนทั้งสิ้น 1,374 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่1-6 พฤศจิกายน 2563

ตกงานหนี้ ๒๐๑๑๐๘

ผลสำรวจพบว่า จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลให้ความสุขของประชาชนลดลง 62.66%, เท่าเดิม 34.72% มีเพียง 2.62% ที่มองว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยที่มองว่าส่งผลต่อความสุข คือ การมีรายได้เพียงพอ 79.85, สุขภาพแข็งแรง 74.41%, การงานมั่นคง 67.72%, ครอบครัวอบอุ่น 66.54% และ สังคมปลอดภัย 58.31%

นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนมีวิธีสร้างความสุขให้ตนเองในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง โดย 70.80% สร้างความสุขด้วยการลด ควบคุมค่าใช้จ่าย, ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง 50.99%, หาทางเพิ่มรายได้ 47.25%, ทำงานอดิเรกที่ชอบ 40.06% และ ออกกำลังกาย 39.10%

สำหรับมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น อันดับ 1 คือ การลดค่าสาธารณูปโภค 63.81%, ตามด้วย การชดเชยรายได้ 52.68%, การพักชำระหนี้ 44.05%, โครงการคนละครึ่ง 36.03% และ การเลื่อนการชำระ-ลดหย่อนภาษี 33.46%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด หากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

IMG 2563 1604794423

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญ ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากประชาชนยังต้องลด และควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาคุณภาพชีวิตของรัฐบาล ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ด้าน ดร.ศิริ ชะระอ่ำ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดความสุขของคนในประเทศ (Gross Happiness Index) นั้น ครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และ การเมืองการปกครอง

แต่เมื่อมาพิจารณาเทียบเคียง กับผลการสำรวจของ สวนดุสิตโพลล่าสุดนี้ กลับเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทยส่วนใหญ่ ล้วนเป็นเพียงความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น มิใช่สิ่งที่ซับซ้อน หรือเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังระบุชัดว่า มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ การลดค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนแบบตรงไปตรงมา เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การพักชำระหนี้เงินกู้ประเภทต่าง ๆ ส่งผลบวกต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สรุปได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน มาตรการภาครัฐระยะสั้น ที่สร้างการรับรู้ถึงความตั้งใจ
ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Projects) ได้อย่างน่าสนใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo