Business

เริ่มแล้ว! เทศกาลลดหย่อนภาษี เช็คลิสต์รายการทั้งหมดปี’63 ได้ที่นี่

ลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มได้แล้ว มีเวลา 2 เดือน สำหรับการตรวจเช็ครายการลดหย่อนประจำปี 2563

การยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาในปี 2563 ที่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษาต้องยื่นในเดือนมี.ค.ปี 2564 แต่จะประกาศให้เลื่อนได้เหมือนปีนี้หรือไม่นั้น ต้องประกาศจากกรมสรรพากรอีกครั้ง

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ “สิทธิลดหย่อนภาษี” ในปี 2563 มีรายการที่เริ่มใช้ใหม่ในปีนี้ และรายเก่าที่หมดอายุไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษเรื่องการออม การทำประกัน และมาตรการจากรัฐบาล มีหลายรายการที่พลาดไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเช็ครายการลดหย่อนในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อ “วางแผนภาษี”

รายการลดหย่อนภาษีในปีนี้ มีทั้งสิ้น 23 รายการ มีดังนี้

27OCT รายการลดหย่อนภาษีปี 2563 1

 

ลดหย่อนภาษี เพื่อตนเองและครอบครัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัว : ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ที่นำไปหักจากรายได้ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ โดยเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ยื่นภาษีทุกคน สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าลดหย่อนคู่สมรส : จำนวน 60,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าคู่สมรสไม่มีรายได้ ไม่ว่ากรณีสามี หรือ ภรรยา เป็นผู้ไม่มีรายได้ และมีเงื่อนไขว่าต้องจดทะเบียนสมรส อีกทั้งต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน

ค่าลดหย่อนบุตร : ค่าลดหย่อนสำหรับผู้ที่มีบุตรได้คนละ 30,000 บาท แต่ภายหลังนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้คนมีบุตร จึงแก้ไขประมวลรัษฎากรใหม่ สำหรับบุตรคนที่ 2 และเกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถลดหย่อนบุตรตั้งแต่คนที่ 2 คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นบุตรโดย “ชอบด้วยกฎหมาย”

สำหรับกรณีผู้ที่มี “บุตรบุญธรรม” เพียงอย่างเดียว สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่ถ้ามีทั้งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตรบุญธรรม ให้นับจำนวนลดหย่อนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นจึงลดหย่อนบุตรบุญธรรม แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คน

ค่าลดหย่อนบิดามารดา : ให้ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับผู้เสียภาษีที่ดูแลพ่อแม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีพ่อแม่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี ก็สามารถหักค่าลดหย่อนในปีภาษีนั้นได้เช่นกัน (พี่น้องสามารถเปลี่ยนสิทธิยื่นค่าลดหย่อนบิดามารดาได้ แต่ต้องเป็นคนละปีภาษี)

ค่าลดหย่อนดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ : ให้ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท สำหรับผู้ดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ ซึ่งกรณีค่าลดหย่อนประเภทมีการจำแนกเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก หากเป็นบุตร คู่สมรส หรือ พ่อแม่ ให้ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท และกรณีที่สอง เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กรณี ให้ลดหย่อนได้ 60,000 เช่นกัน แต่ได้คนเดียว

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ เป็นสิทธิลดหย่อนนอกเหนือจาก ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนบิดามารดา หากคู่สมรส บุตร หรือ บิดามารดา เป็นผู้พิการด้วย ให้หักค่าลดหย่อนประเภทนี้เพิ่มขึ้นจากค่าลดหย่อนแต่ละประเภทได้

ค่าฝากครรภ์และทำคลอด : หักได้ตามจริง แต่ไม่เกินท้องละ 60,000 บาท สำหรับกรณีลูกแฝดนับเป็นท้องเดียว

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป : หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีประกันชีวิตทั่วไปให้ตัวเอง โดยรวม “เงินฝากแบบมีประกันชีวิต” ด้วย

นอกจากนี้ กรณีเบี้ยประกันคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ให้หักค่าลดหย่อนได้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (ต้องเป็นคู่สมรสตลอดปีภาษี)

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา : ประกันสุขภาพพ่อแม่ หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง รวมไม่เกิน 15,000 บาท และในกรณีคู่สมรสไม่มีรายได้ ก็สามารถนำประกันสุขภาพของพ่อแม่คู่สมรสไปหักลดหย่อนได้ ไม่เกินปีละ 15,000 บาท เช่นเดียวกัน

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ผู้ซื้อประกันสุขภาพให้ตนเองสามารถลดหย่อนได้ แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท และ เมื่อรวมกับ “เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป” และ “เงินฝากแบบมีประกัน” ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ต้องเป็นการคุ้มครองประกันสุขภาพที่รับประกันโดยบริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทประกันวินาศภัยในไทย

27OCT รายการลดหย่อนภาษีปี 2563 2

 

ลดหย่อนภาษี เพื่อการลงทุน

กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนครูเอกชน : ทั้ง 3 ประเภท คือ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอชน ให้หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500,000 บาท แต่กรณีกองทุนสำรองเลี้ยง มีเงื่อนไขเพิ่มเติม หักได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : หักค่าลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่หากผู้มีเงินได้จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน เมื่อรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี “เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป” สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท

เงินประกันสังคม : ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกินปีละ 9,000 บาท เนื่องจากอัตราการหักเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน

เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.): ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีระบบสวีสดิการสังคมอื่น

กองทุนรวมเพื่อการออม(SSF) : เงินซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม( Super Saving Fund : SSF) ตามที่มีการลงทุนจริงในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยต้องถือให้ครบ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ เริ่มตั้งแต่ปี 2563-2567

เมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน รวมถึง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

27OCT รายการลดหย่อนภาษีปี 2563 3 0

 

กองทุนรวมเพื่อการออมแบบพิเศษ (Super Saving Fund Extra : SSFX) : ผู้ต้องการลดหย่อนต้องซื้อกองทุนประเภทนี้ ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2563 ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่อาศัย : ใช้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้กู้เงินซื้อที่อยู่อาศัย

ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต : ให้ลดหย่อนได้เพิ่ม 1 เท่าจากจำนวนที่จ่ายจริง ในกรณีผู้เสียภาษีรับชำระค่าธรรมเนียมด้วยบัตรเครดิต ระหว่าง 1 พ.ย. 2559-31 ธ.ค.2564 โดยเฉพาะการรับชำระประเภท ค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ ค่ารับเหมา หรือเงินได้การประกอบธุรกิจ

ลดหย่อนภาษีตามนโยบายรัฐ

เงินบริจาคพรรคการเมือง : ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

ค่าซื้อโครงการบ้านหลังแรก : สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกในปี 2558-59 ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 120,000 บาท ที่ซื้อบ้านหลังแรกระหว่างวันที่ 13 ต.ค.2558-31 ธ.ค.2559 ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยปีนี้เหลือใช้สิทธิเป็นปีสุดท้ายสำหรับคนที่ซื้อในปี 2559

ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ (ช้อปดีมีคืน) : ใช้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการ ระหว่าง 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 สำหรับร้านค้าที่ร่วมบริการ และยังรวมถึงค่าธรรมเนียมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ด้วย

เงินบริจาคเพื่อการศึกษา : ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

เงินบริจาคทั่วไป : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย เช่น บริจาคให้กับวัด สภากาชาดไทย สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์กรของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน กองทุนสวัสดิการ โดยมีรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิ์ขอหักค่าลดหย่อนที่กรมสรรพากร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo