Business

CLMV ฟื้นช้า ‘เมียนมา’ อ่วมพิษโควิดหนักสุด ‘เวียดนาม’ พลิกกลับเร็ว

CLMV ฟื้นช้า EIC คาด เวียดนามพลิกฟื้นได้เร็วสุด จากส่งออกและการควบคุมโควิด ขณะที่เมียนมา หนักสุด หลังเจอโควิดระบาดรอบใหม่ ส่อยืดเยื้อ

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผยว่า จากการประเมินปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจใน CLMV ฟื้นช้า และระดับการฟื้นตัวของแต่ละประเทศ จะแตกต่างกันมากขึ้น ตามระดับการระบาด ของโควิด-19 และความสามารถในการควบคุม โควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งความเสี่ยงรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

CLMV ฟื้นช้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี2563 หลังเริ่มคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แม้ กัมพูชา และ สปป.ลาว สามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ ในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม แต่ เมียนมา ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้า และไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัว ที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น และระดับการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ

ในบรรดากลุ่มประเทศ CLMV เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดี ด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง และการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้รวดเร็ว โดย EIC คาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ 7.0% ในปี 2564 ขณะที่ เศรษฐกิจกัมพูชา สปป.ลาว และ เมียนมา ในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ค่อนข้างต่ำ หรือประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตก่อน โควิด-19

สำหรับกัมพูชาการระบาดของ โควิด-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

Slide2

อุปสงค์จากต่างประเทศ

สำหรับกลุ่ม CLMV ยกเว้นเวียดนาม จะยังคงอ่อนแรง จากภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซา และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชา (14% ของ GDP) และเวียดนาม (6.9% ของ GDP) คาดว่าจะยังซบเซาต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในเมียนมา มีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19

แม้ว่า สปป.ลาวและเวียดนาม จะสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ และเที่ยวบินระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ยังคงไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะแรก

สำหรับ กัมพูชาได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้แล้ว แต่ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกักตัว และการตรวจเชื้อ จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซา

EIC คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ CLMV จะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ดี จนกว่าจะมีการค้นพบและมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง

เวียดนามส่งออกนำหน้าเพื่อนบ้าน

การส่งออกของกลุ่มประเทศ CLMV จะยังคงฟื้นตัวได้ต่ำสำหรับกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์โลกต่อสินค้าส่งออกหลัก (เครื่องนุ่งห่ม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าวัตถุดิบ)

นอกจากนั้นการส่งออกเมียนมา ได้รับ ผลลบเช่นกัน จากการปิดโรงงาน และมาตรการจำกัดการขนส่งอย่างเข้มงวด ที่พรมแดนกับไทย และจีน

ในขณะที่การส่งออกของเวียดนาม ยังคงเติบโตนำหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์โลกต่อสินค้ายุค “new normal” เช่นคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาค CLMV ยังคงชะลอตัว จากความไม่แน่นอนในด้านการลงทุน และการที่บริษัทข้ามชาติบางราย ตัดสินใจเลื่อนแผนการผลิตออกไป

Slide1

ส่องภาคเศรษฐกิจในประเทศ

การบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวช้า จะยังเผชิญแรงกดดัน จากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 และการทยอยกลับไปปิดเมืองอีกครั้ง

ผลกระทบจากการปิดโรงงานและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังซบเซา และการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า จะส่งผลให้การว่างงานยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นแรงกดดัน ต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ตัวเลข Google Mobility Index บ่งชี้ว่า การเคลื่อนไหวของประชากร CLMV ที่ร้านค้าปลีกและนันทนาการ สถานที่ทำงาน และสถานีขนส่ง ได้กลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ในเดือนเมษายน แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับฐานในช่วงก่อนโควิด-19 ค่อนข้างมาก

มาตรการ ล็อกดาวน์ บางส่วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเวียดนาม ในเดือนสิงหาคม แต่ทางการเวียดนามสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ตั้งแต่เดือนกันยายน ในทางกลับกัน เศรษฐกิจภายในเมียนมา กลับมาหยุดชะงัก หลังทางการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์  ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม

ที่ผ่านมารัฐบาล CLMV ประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการให้เงินช่วยเหลือ ลดภาษี โครงการปรับโครงสร้างหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐได้ขยายระยะเวลามาตรการส่วนใหญ่ออกไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซบเซา

ทั้งนี้จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้าและเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง EIC ประเมินว่าภาครัฐจะขยายมาตรการกระตุ้นออกไปอีกจนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ผลกระทบจากเศรษฐกิจ CLMV ต่อประเทศไทย

ด้านการค้าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ โดย TDI (การลงทุนจากไทย) ไปกลุ่ม CLMV โดยรวมหดตัว ในไตรมาสที่ 2/2563 และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV และความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง

การส่งออกจากไทย ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่2/2563 ที่หดตัว -24.5% โดยในไตรมาสที่3/2563 มูลค่าส่งออกหดตัวลดลงเหลือ -7.9% โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนกันยายน หดตัวลดลงเหลือ -3.2%

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวด้านการส่งออก เป็นอย่างทั่วถึง นำโดยการส่งไปยังเวียดนาม ที่ฟื้นตัวจาก -19.4% ในไตรมาสที่สองมาเป็น -4.5% ในไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ

การนำเข้าของไทยจากกลุ่มประเทศ CLMV มีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าการส่งออก สะท้อนอุปสงค์ของไทยที่ฟื้นตัวช้า โดยแม้มูลค่าการนำเข้าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังหดตัว -17.2% ในเดือนกันยายน เทียบกับ -32.7% ในเดือนมิถุนายน

ส่งออก

การค้าชายแดนไทยหดตัวน้อยลง

ในด่านตรวจสินค้าชายแดนของไทย มูลค่าส่งออกของไทยผ่านการค้าชายแดนหดตัวลดลงเหลือ -3.6% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับ -25.0% ในเดือนเมษายน โดย EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยไป CLMV จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ด้านการลงทุนจากไทย (TDI) ไปยัง CLMV ในไตรมาสที่2/2563 หดตัวลงมาที่ -24.5% จากขยายตัว 2.8% ในไตรมาสที่หนึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเวียดนามและเมียนมา

ภาคการท่องเที่ยว หลังจากมาตรการปิดเมืองในเดือนเมษายนถึงกันยายน ประเทศไทยยังคงไม่ได้รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวจาก CLMV ซึ่งคิดเป็น 10.5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปี 2562

เวียดนาม เป็นประเทศปลายทางสำคัญ ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) และมีโอกาสเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวก จากแนวโน้มการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้กลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาด ของ FDI ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน จากความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ในด้านการปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ ค่าแรง ทักษะแรงงาน และตลาดสินค้า

EIC ประเมินว่าในระยะข้างหน้า เวียดนาม มีโอกาสเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ได้รับผลบวก จากแนวโน้มการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ในแง่ของประชากรจำนวนมาก ที่ยังอายุน้อยและมีศักยภาพ แรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับต้นทุน ตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับจีน อัตราภาษีนิติบุคคลที่ค่อนข้างต่ำ ข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ และโครงสร้างสินค้าส่งออกที่ตอบรับกับอุปสงค์โลก

ความน่าสนใจของเวียดนาม ในฐานะปลายทางการลงทุน ได้กลายเป็นประเด็นที่น่ากังวล สำหรับไทยเช่นกัน โดยไทยควรให้ความสำคัญกับ การลงมือปฏิบัติแผนยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ของประเทศ โดยเฉพาะในด้าการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพิ่มพูนผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการขยายข้อตกลงการค้าเสรีให้ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo