Business

ส่อง ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ภูเก็ต ต้นแบบ ‘ท่าเรืออัจฉริยะ’ ปลอดโควิด

ท่าเรืออัจฉริยะ ปลอดโควิด ดีอีเอส โชว์ผลงานพัฒนา ระบบจัดการท่าเรืออัจฉริยะ ประเดิมท่าเทียบเรืออ่าวปอ ภูเก็ต หนุนเปิดเมือง ปลอดภัยจากโควิด

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า โครงการ ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการพัฒนาจัดการท่าเรือ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นโครงการต้นแบบ การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ

ท่าเรืออัจฉริยะ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัด สามารถทราบข้อมูล และจำนวนผู้โดยสาร ในเรือแต่ละลำ เก็บภาพ วิดีโอ ของผู้โดยสาร พร้อมการคัดกรองอุณหภูมิผู้โดยสาร ก่อนลงเรือ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือ ดูแลความปลอดภัย รวมถึงการคัดกรอง และติดตามโรคระบาด

สำหรับระบบการจัดการท่าเรืออัจฉริยะ ในโครงการต้นแบบดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1. ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเลกลาง ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ หรือ เจ้าของเรือ ลงทะเบียนรายชื่อผู้โดยสารลูกเรือ กัปตันชื่อเรือ พร้อมเส้นทางการเดินทางของเรือ ก่อนเรือออกในแต่ละวัน พร้อมระบบรายงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สามารถดำเนินการ ตรวจสอบความถูกต้องได้

2. ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ คือ ประตูอัตโนมัติ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้า และวัดอุณหภูมิ และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ พร้อมกล้องจับใบหน้า เครื่องอ่านบัตรประชาชน และพาสปอร์ต

ท่าเรือ1

3. ระบบ Wristbands ติดตามตัวบุคคล และร้องขอความช่วยเหลือ เมื่อประสบภัย

4. เรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

การดำเนินงานโครงการพัฒนา ต้นแบบ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุด One Stop Service บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อการพัฒนาการบริหารงานท่าเทียบเรือในอนาคต

ขณะที่แพลตฟอร์มนี้ ได้รับการออกแบบ ในลักษณะ One Stop Service เช่น การเชื่อมต่อข้อมูล ด้านประกันภัยแบบอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถนำสายรัดข้อมือ ไปยืนยันการเคลมประกันกับโรงพยาบาล และสามารถเข้ารับการรักษาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องโทรติดต่อประกันภัย หรือนำเอกสารยืนยันตัวต่าง ๆ เข้าไปยื่นก่อนการรักษา

นอกจากนี้ ยังเป็นการลดขั้นตอน ลดระยะเวลาไปอย่างมาก หรือจะเป็นการส่งรายชื่อ นักท่องเที่ยวทุกคน ให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ก่อนการออกเดินทาง เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย

ท่าเรืออัจฉริยะ

ในการทำงานนั้น แพลตฟอร์มจะรองรับการอัปโหลดข้อมูล จากบริษัทนำเที่ยว จากนั้น แพลตฟอร์มจะทำการส่งข้อมูลเหล่านั้น ให้กับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และสามารถประมวลผล และสรุปผลได้โดยทันที

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัล ในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ จะทำให้ท่าเทียบเรือ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินการ จะทำให้เพิ่มขั้นตอนการดำเนินงาน และท่าเรือ บริษัทนำเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงอาจจะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ ในการขยายผลในท่าเรืออื่น ๆ หรือเกิดการย้ายท่าเรือ ของบริษัทนำเที่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงในกระบวนการในส่วนนี้ ทำให้เกิดช่องโหว่ ของการดูแลความปลอดภัยทางทะเล

ดังนั้น ควรมีการกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม และขยายผลให้มีการดำเนินการทุกๆ ท่าเทียบเรือ ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

“ผมจึงมีคำสั่งการให้ดีป้า ประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลในทุกๆ ท่าเทียบเรือ ในจังหวัดภูเก็ต ปิดช่องโหว่ข้างต้น เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว” นายพุทธิพงษ์กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังมองว่า โครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จะมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มีความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้น ภายหลังมีมาตรการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูเก็ต ซึ่งพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo