Business

9 ‘เทรนด์ท่องเที่ยว’ หลังโควิด ที่กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก

เทรนด์ท่องเที่ยว หลังโควิด Booking.com เผย 9 แนวโน้ม พฤติกรรมนักเที่ยวเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก เที่ยวอย่างชาญฉลาด รักษ์โลก ปลอดภัย

ภาคการท่องเที่ยวไทย เตรียมปรับตัวรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ หลังโควิด-19 โดย Booking.com ได้นำผลการสำรวจ ข้อมูลผู้เดินทาง มากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย มารวมเข้ากับข้อมูลเชิงลึก ของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม เพื่อเผยถึง เทรนด์ท่องเที่ยว หลังโควิด

เทรนด์ท่องเที่ยว หลังโควิด

มิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com กล่าวว่า เหตุการณ์ใหญ่ตลอดปีนี้เป็นปีที่ท้าทายเป็นพิเศษ และทำให้เห็น สัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก

สำหรับ 9 เทรนด์ที่พบว่า นักเดินทางจะเปลี่ยนแปลงพฤิตกรรมไป มีดังนี้

1. จากความปรารถนาสู่ความจำเป็น

การอยู่บ้านเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ผู้คน โหยหาการเดินทางมากขึ้น โดยในช่วงล็อกดาวน์ พบพฤติกรรมนักเดินทางชาวไทย ดังนี้

  • 71% รู้สึกตื่นเต้น ที่จะมีโอกาสได้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้
  • 77% ระบุว่า รู้สึกเห็นคุณค่าของการเดินทางมากขึ้น และจะไม่มองข้ามคุณค่าดังกล่าวอีก
  • 65% ปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม
  • 60% ตั้งใจที่จะจองทริปที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้อีกครั้งหนึ่ง

เทรนด์ท่องเที่ยว หลังโควิด

2. ความคุ้มค่าต้องมาก่อน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนมองหาความคุ้มค่า ในทุกการจับจ่ายใช้สอย ไม่เว้นแม้แต่ด้านท่องเที่ยว มีผลสำรวจน่าสนใจในประเด็นนี้ คือ

  • 78% ให้ความใส่ใจกับราคามากขึ้น ขณะวางแผนการเดินทาง และมีแนวโน้มมองหาโปรโมชั่น และข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ มากขึ้น โดยพฤติกรรมเช่นนี้ จะคงอยู่ไปอีกหลายปี
  • 80% ระบุว่า ต้องการให้แพลตฟอร์มจองการเดินทาง เพิ่มความโปร่งใส เกี่ยวกับนโยบายการยกเลิก ขั้นตอนการคืนเงิน และตัวเลือกประกันการเดินทาง
  • 37% มองว่า ตัวเลือกที่พักแบบยกเลิกฟรี เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับทริปถัดไป
  • 87% สนใจที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • 84% อยากให้การจองการเดินทางของตน สามารถช่วยเหลือชุมชนให้ฟื้นตัวได้

3. ขอเน้นที่ใกล้และคุ้นเคย

เนื่องจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวในปัจจุบัน การเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียง และท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และมักช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้มากกว่า

  • ผู้เดินทางชาวไทย 61% วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7-12 เดือนที่จะถึง
  • 53% วางแผนจะเดินทางในไทยในระยะยาว (ในช่วง 1 ปีขึ้นไป) ในแง่ของการเที่ยวใกล้ๆ
  • 36% วางแผนที่จะไปสำรวจจุดหมายใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปที่อยู่ใกล้เคียงภูมิลำเนาหรือในภายประเทศ
  • 55% อยากใช้เวลาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติในเมืองไทย

เทรนด์ท่องเที่ยว หลังโควิด

4. หลีกหนีความจริงด้วยการค้นหา

เพื่อสร้างความสุขและหากิจกรรมทำในช่วงล็อกดาวน์ คนไทยส่วนใหญ่ 98% เคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดย 68% ได้เสิร์ชหาจุดหมายท่องเที่ยวต่าง ๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ 41% ตอบว่ารู้สึกหวนคิดถึงวันวาน เมื่อเปิดดูภาพถ่ายเก่า ๆ จากทริปก่อน ๆ ขณะมองหาแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวในอนาคต

5. ปลอดภัยไว้ก่อน

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 89% จะใช้ความระมัดระวัง ในการเดินทางมากขึ้น สืบเนื่องจากโควิด-19 และผู้เดินทาง 83% คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ในขณะเดียวกัน 86% จะเลือกจองเฉพาะที่พัก ที่มีการระบุมาตรการด้านสุขภาพและอนามัย ไว้อย่างชัดเจน และยอมรับได้กับการตรวจสุขภาพ เมื่อเดินทางถึงสถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดหมายปลายทาง

6. คำนึงถึงผลกระทบ

นักเดินทางชาวไทย 68% ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต โดย 86% คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น และ 84% ต้องการตัวเลือกในการเดินทาง ที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูจุดหมายปลายทางนั้น ๆ ได้ และ 82% ต้องการเห็นว่าเม็ดเงินที่จ่ายไป จะกลับเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

7. โบกมือลาการเข้าออฟฟิศ

การทำงานจากบ้าน ได้กลายเป็นพฤติกรรมกระแสหลัก ในช่วงของการระบาด แต่ผลที่ตามมาทางอ้อม คือ ทางเลือกในการวางแผนการเดินทางที่ยาวนานขึ้น โดยรวมการทำงานเข้ากับทริปท่องเที่ยว การที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป ทำให้เราเห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

Holiday ๒๐๑๐๒๓ 0

ทั้งนี้พบว่า ผู้เดินทางชาวไทย 60% เคยวางแผนจะจองที่พัก เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่แปลกใหม่ ในขณะที่ 69% เต็มใจที่จะกักตัว หากยังคงสามารถทำงานระยะไกลได้ นอกจากนี้ คนไทย 76% บอกว่า จะหาโอกาสขยายทริปธุรกิจให้นานขึ้น เพื่ออยู่เที่ยวที่จุดหมายปลายทางนั้น ๆ ต่อได้

8. สัมผัสความสุขง่าย ๆ

ตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์แพร่ระบาด ผู้ใช้บริการ Booking.com ทั่วโลก ต่างแบ่งปันความคิดเห็นถึงสิ่งธรรมดา ๆ ที่สร้างความสุขได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า (94%) อากาศบริสุทธิ์ (50%) ธรรมชาติ (44%) และการผ่อนคลาย (33%)

ผลสำรวจทั่วโลก คล้ายคลึงกับความต้องการของผู้เดินทางชาวไทย ที่ 85% ที่วางแผนจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวระหว่างทริปพักผ่อน

ขณะที่ 80% ยังอยากมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวในชนบท หรือที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีใครไป เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่ามกลางธรรมชาติให้เต็มที่

พฤติกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว พื้นที่เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงความสะอาดและสุขอนามัยที่ควบคุมได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้เดินทางชาวไทยต่างมองหาที่พักที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง โดย 55% ของนักเดินทางชาวไทย เลือกมองหาที่พักประเภท บ้านพักตากอากาศ หรืออพาร์ตเมนต์ มากกว่าโรงแรม และ 63% จะเลือกทานอาหารในที่พักมากขึ้น แทนที่จะออกไปร้านอาหาร

103668542

ส่วนประเภทของทริปที่นักเดินทางชาวไทยยุค “นิวนอร์มอล” อยากไปเที่ยวมากที่สุดได้แก่ ทริปเที่ยวริมทะเล 51% ตามมาด้วยทริปพักผ่อนหย่อนใจ 48% และทริปเที่ยวในเมือง 27%

9. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการเดินทาง

นวัตกรรมเทคโนโลยี จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจ ให้กับผู้เดินทางอีกครั้ง ในโลกหลังการระบาดใหญ่

  • 81% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นด้วยว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ในการช่วยป้องกันความเสี่ย งด้านสุขภาพระหว่างเดินทาง
  • 80% ยังเห็นตรงกันว่า ผู้ให้บริการที่พัก จะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุด เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพัก
  • 75% ต้องการให้มีเครื่องมือแบบบริการตนเองมากขึ้น แทนที่จะผ่านเคาน์เตอร์ให้บริการเพื่อลดการสัมผัส นอกจากนี้คนไทย
  • 80% ยังรู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของเทคโนโลยี ที่ช่วยปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางให้เข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo