Business

‘เลี้ยงจิ้งหรีด’ ทางรอดใหม่เกษตรกร ดันไทย ฮับโปรตีนแมลงโลก

เลี้ยงจิ้งหรีด ทางรอดใหม่เกษตรกร หลังโควิด เกษตรฯ เดินหน้าผนึกมหาวิทยาลัย ผุด ศูนย์เทคโนโลยีแมลง ตั้งเป้าไทยขึ้นแท่น ฮับแมลงโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธาน คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตโปรตีน จากแมลงหรือฮับแมลงโลก โดยมีนโยบายส่งเสริมการ เลี้ยงจิ้งหรีด ทางรอดใหม่เกษตรกร หลังโควิด

เลี้ยงจิ้งหรีด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด เร่งส่งเสริม และยกระดับมาตรฐาน ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งมีกว่า 20,000 ฟาร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิต ให้ผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าว ยังสอดรับกับแนวทางของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก”

FAO คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลก ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนจากแมลง จึงเป็นหนึ่งในแนวทาง ในการรับมือกับอาหารในอนาคตที่ดีที่สุด

ขณะที่ผลการวิจัย เรื่อง อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และ อาหารใหม่ (Novel Food) พบว่า “แมลง” มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ และมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด

อลงกรณ์
อลงกรณ์ พลบุตร

สำหรับแมลงที่มีอยู่นับล้านชนิด “จิ้งหรีด” นับเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด และ ข้อมูลจากบริษัท Research and Markets ระบุว่า ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2561-2566 ประมาณ 23.8% และคาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนถึง 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั้งในยุโรปตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ

ส่วนข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทย มีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม โดยปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นตลาดหลัก ในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก

“โปรตีนจากแมลง จัดเป็นซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) และ เป็นอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ที่ต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูป และการตลาด รวมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย” นายอลงกรณ์กล่าว

ดังนั้น เจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” ภายใต้ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ กับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งขยายผลไปยัง มหาวิทยาลัยอื่น ๆ

ความร่วมมือดังกล่าว เพื่อนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำ เบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ protein shakes

เลี้ยงจิ้งหรีด

กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า กลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออกละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก

ด้านตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศ ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกร รวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่จิ้งหรีดทั้งหมดจำนวน 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก 469 ราย พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตัน

รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจเพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ส่งเสริมให้เกษตรกรไทย หันมาเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในยุคโควิด

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี และสามารถป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ รวมทั้งกรมหม่อนไหม ได้ส่งเสริมเกษตรกรหม่อนไหมกว่า 20,000 ราย ในการพัฒนาดักแด้ไหม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มาแรงเป็นที่ต้องการอย่างมากในขณะนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo