Business

อยู่ต่อได้! แรงงานต่างด้าว ครบวาระ 4 ปี พ.ย.นี้ ‘ไม่ต้องกลับประเทศ’

แรงงานต่างด้าว ครบวาระ 4 ปี หลังทำงานตามเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาล เดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ไฟเขียว อยู่ทำงานต่อ ไม่ต้องกลับประเทศหวั่นทำไทยระบาดระลอก 2

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุม คณะกรรมการนโยบาย การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 4/2563 มีมติให้ แรงงานต่างด้าว ครบวาระ 4 ปี หลังจากเข้ามาทำงาน ตามบันทึกความตกลง หรือ บันทึกความเข้าใจ ที่รัฐบาลไทย ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แรงงานต่างด้าว ครบวาระ 4 ปี

ทั้งนี้เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน MoU ตามปกตินั้น ทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

ขณะเดียวกัน ยังต้องให้ความสำคัญ กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวัง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่น รองรับการฟื้นฟู และขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อไม่ให้นายจ้าง และสถานประกอบการ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้เสนอแนวทางการดำเนินการดังกล่าว โดยจะนำเสนอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

จากการตรวจสอบในระบบฐานข้อมูล ของกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่ามี แรงงานต่างด้าว ที่ใบอนุญาตทำงาน กำลังจะสิ้นสุด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 – ธันวาคม 2564 จำนวนถึง 131,587 คน โดยเป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา 34,053 คน ลาว 24,597 คน และ เมียนมา 72,937 คน

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการว่า แรงงานต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา ลาว และ เมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 สามารถดำเนินการ ดังนี้

1. ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ ไปยื่นขออนุญาตทำงานและขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

2. ยื่นขออนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน (มีอายุไม่เกินครั้งละ 2 ปี)

3. ขอตรวจลงตราอนุญาต ให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียมคำขอ 1,900 บาท

4. จัดทำทะเบียนประวัติ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ณ สำนักเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทะเบียนภาคจังหวัดสาขา หรือ ที่กรมการปกครองกำหนด ในพื้นที่ ที่คนต่างด้าวทำงาน

สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ และ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @service_workpermit หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2

พร้อมกันนี้ กรมการจัดหางาน ได้จัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo