Business

‘3 CEO’ ลงความเห็น ‘ความยั่งยืน’ คือความจำเป็น ถึงเวลาลั่นระฆังความร่วมมือ

ภายในงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX)” ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก (Sufficiency for Sustainability) วันนี้ (3 ต.ค. 63) ได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “CEO Panel Discussion “Decade of Sustainability Action” ซึ่งมี CEO จาก 3 องค์กรชั้นนำของประเทศไทยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

  • ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev
  • ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU
  • คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

ความยั่งยืน GC

ถึงเวลาลั่นระฆังความร่วมมือ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev กล่าวว่า ภาคธุรกิจสนใจเรื่อง ความยั่งยืน มาอย่างยาวนาน โดยมีการทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและเป็นแกนหลัก ซึ่งกำลังค่อยๆ สะท้อนผลออกมา

ในภาพใหญ่ สหประชาชาติ (UN) ริเริ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) 17 ข้อตั้งแต่ปี 2015 และจะสิ้นสุดปี 2030 ตอนนี้ก็ผ่านระยะเวลา 5 ปีแรกมาแล้ว ในแต่ละภาคส่วนมีการหารือ ตกลงใจร่วมกัน และเริ่มลงมือทำไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ร่วมมือกันอย่างชัดเจน ตอนนี้จึงถึงเวลาลั่นระฆังว่า แต่ละองค์กรจะร่วมมือกันอย่างไรในการพัฒนาความยั่งยืน

โดยเราสามารถมาคุยกันแล้วหาประเด็นหลัก เพื่อลงมือทำและเดินหน้าไปพร้อมกัน ในทางธุรกิจไม่ได้มีแค่มุมแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่สามารถมองมุมสร้างสรรค์ เช่น การรวมพลังเพื่อสร้างโอกาสและขยายผล เพื่อสร้างประโยชน์ในประเทศไทยและอาเซียน

อย่างเช่น 3 องค์กรที่เข้ามาร่วมเสวนาในวันนี้ แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ก็สามารถแตะมือ หาทางสร้างประโยชน์และความยั่งยืนร่วมกันได้ เช่น GC และ ThaiBev มีความเกี่ยวพันธ์ด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

8Q4A8805

สำหรับการสร้าง ความยั่งยืน ภายในนั้น ThaiBev ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักคิด และทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงพยายามทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ด้วย

โดยขณะนี้กำลังมองว่า จะประกอบร่างอาชีพเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร เพื่อเปลี่ยนขบวนการทำงานและเปิดกว้างรับเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น วันนี้เรากำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบเดิมๆ นับเป็น Decade of Action

สำหรับในทางธุรกิจมีอยู่ 3 เรื่องที่จะไม่นับผลตอบแทน หรือ Return of Investment คือ คน ตราสินค้า และความยั่งยืน โดยองค์กรต้องค่อยๆ ทำและทำอย่างต่อเนื่อง

 

“ความยั่งยืน” เปิดโอกาสทางธุรกิจ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า ล่าสุด GC ได้ทบทวนกลยุทธ์องค์กรในด้านต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์ด้าน ความยั่งยืน

GC มองว่า นอกจากภายในองค์กรจะทำได้ดีแล้ว ก็ต้องยกระดับความยั่งยืนด้วยการแบ่งปันและสร้างแนวร่วม เพราะโลกทุกวันนี้ทำอะไรคนเดียวคงจะไม่ได้ โดยการยกระดับไม่ใช่การได้รางวัล แต่เป็นการสร้างบทบาทให้ GC เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายให้องค์กร หน่วยงาน หรือคนอื่นๆ สามารถสร้างเรื่องนี้และต่อยอดได้

สำหรับการสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรของ GC เอง ก็มีตั้งแต่พื้นฐานเรื่องนโยบายและมอบหมายงานต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือการผลักดันจากข้างล่าง ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ถ้ามีเรื่องนี้ การที่สร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อ โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ก็จะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องไปด้วยกัน

S 151159114

สำหรับในแวดวงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) บริษัทข้ามชาติก็ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะ GC ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก็ทราบว่านักลงทุนให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืน การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา GC ได้ผลักดันความยั่งยืนหลายด้าน เช่น การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

การสร้างความยั่งยืนส่งผลให้ GC สามารถลดต้นทุนและสร้างโอกาสให้ธุรกิจ เช่น การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสุดท้ายช่วยเราลดค่าใช้จ่ายและการปล่อยของเสีย กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสให้ GC สามารถเปิดตลาดใหม่สำหรับลูกค้าและนักลงทุนที่สนใจในเรื่องนี้

“10 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นทางเลือก แต่วันนี้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้ามันอยู่ในกลยุทธ์ของเราอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม แต่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ” นายคงกระพันกล่าว

 

เทคโนโลยีสร้างความยั่งยืน “ธุรกิจประมง”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ให้มุมมองว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ไม่ได้ดูแค่คุณภาพและราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริโภคต้องการรู้กระบวนการผลิต ที่มาที่ไปของสินค้าว่าถูกต้องไหม บริษัทสามารถดูแลพนักงานได้หรือเปล่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

ก่อนหน้าปี 2014 TU ยังไม่รู้จักคำว่า ความยั่งยืน (Sustainability) รู้แต่ว่าต้องดูแลพนักงาน คู่ค้า และผู้บริโภค แต่ในปี 2014 ประเทศไทยถูกกล่าวหาโดยทั่วโลกว่า ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ถูกปรับลดอันดับจาก Tier 2 watchlist เป็น Tier3 เทียบเท่าเกาหลีเหนือ คิวบา และอิหร่าน สหภาพยุโรป (EU) ออกใบเหลืองให้ประเทศไทย ฐานทำประมงผิดกฎหมาย

เราคิดว่าในอดีตองค์กรทำถูกต้องก็เพียงพอ แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้ว่า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้นำอุตสาหกรรมต้องทำให้ซัพพลายเชนถูกต้องทุกเรื่อง เช่น TU ไม่ได้จับปลา แต่ก็ต้องไปดูเรื่องเรือประมงที่จับปลาให้ถูกต้อง

รัฐบาลและอุตสาหกรรมประมงจึงต้องทำเรื่องนี้เป็นเวลา 3 ปี จนในที่สุดประเทศไทยก็หลุดพ้นจาก Tier 3 มาเป็น Tier 2 ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ และ EU ก็ปรับสถานะประมงจากใบเหลือง เป็นใบเขียว

ประมง

สำหรับการสร้างความยั่งยืนในชุมนุม TU ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวประมงหลายด้าน เช่น การทำเรือประมงต้นแบบ นอกจากนี้ได้นำเทคโนโลยี GPS ตรวจสอบตำแหน่งเรือมาใช้ เพราะเรือประมงต้องมีใบอนุญาตหาปลาในแต่ละอาณาเขต ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้

นอกจากนี้ ก็เพิ่มเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตบนเรือ ส่งผลให้ลูกเรือสามารถติดต่อกับบนฝั่งและที่บ้านได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมามีประเด็นว่าลูกเรือถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตบนเรือโดยที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ด้วย

“Sustainability ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่เป็นเส้นทางที่ยาวไกล ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทำมาแล้วองค์กรได้ประโยชน์ ประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วย” นายธีรพงศ์กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo