Business

จี้ สศอ.คลอดแผนพัฒนา ‘อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์’ ดันไทยฮับอาเซียน

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ไทยศักยภาพสูง สุริยะจี้ สศอ. เร่งทำแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 1 หวังประกาศให้ทันปี 2564 รับเป้าหมายดันไทย ฐานผลิตใหญ่อาเซียน ปี 2570

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) โดเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.09% จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ของผู้สูงอายุ หลังจากประเทศไทย เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีแรงผลักดันจาก สถานการณ์การแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ สินค้า และเครื่องมือทางการแพทย์ บางประเภทขาดแคลน จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก ในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (ปี 2564-2570) เพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เปฺ็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้ทันภายในปี 2564

พร้อมกันนี้ ยังได้วางเป้าหมายให้ ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ ในอาเซียน ภายในปี 2570 อีกด้วย

จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้ความต้องการใช้ เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในบางสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ที่มีความต้องการสูง มากกว่าการผลิตที่มีอยู่ และความต้องการ ยังมีแนวโน้มสูงไปอีกนาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ประกอบกับ ประเทศไทยเป็นที่นิยม และเป็นประเทศที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการเข้ามารักษาตัว ของชาวต่างชาติ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ กำหนดเป็นเป้าหมาย ในการพัฒนาและผลักดัน สู่การเป็นฮับทางสุขภาพ

สุริยะ 1
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ด้าน นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ร่างแผนปฏิบัติการฯ จะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรค และยกระดับ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ให้มีการพัฒนา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแผนปฏิบัติการ ที่เริ่มปฏิบัติได้ทันที โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่

1. การส่งเสริมการผลิต และการลงทุน ในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์ กระตุ้นให้มีการผลิต และการลงทุนเครื่องมือแพทย์ ยกระดับเทคโนโลยี และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทย ให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ ในระดับที่สูงขึ้น กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย

2. การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้ เครื่องมือแพทย์ ที่ผลิตในประเทศ ให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ หรือแรงจูงใจเพิ่มเติม ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์ มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่น ในการใช้เครื่องมือแพทย์ ที่ผลิตในประเทศไทย

นอกจากนี้ จะส่งเสริมตลาดต่างประเทศ โดยการจัดงาน หรือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการ ทางการแพทย์นานาชาติ และงานแสดงสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ความรู้ ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ ในระดับสากล และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ของไทยกับนานาชาติ

3. การส่งเสริม เตรียมความพร้อม ด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ (Regulatory expert) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค (Technical expert)

พร้อมกันนี้ จะให้คำปรึกษานักวิจัย และผู้ประกอบการ ในการประเมินเอกสาร การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo